วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เคยเป็นศูนย์กลางของเมืองสุพรรณภูมิ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี ปรางค์ใหญ่องค์ประธานเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้
ต่อมาปี พ.ศ. 2456 (ค.ศ.1913) ชาวบ้านลักลอบขุดค้นหาทรัพย์สินจนทรุดโทรมไปมาก พระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีที่โด่งดัง อันเป็นหนึ่งในเบญจภาคี ก็ได้ไปจากกรุในองค์พระปรางค์นี้

หลังจอดรถเราเดินชมพระปรางค์ที่ก่ออิฐแดงสูงใหญ่ ด้านข้างมีปีกปรางค์ หรือปรางค์ขนาดเล็กขนาบอยู่ เดินไปตามทางระเบียงคตล้อมอยู่โดยรอบ เที่ยวหาหลักฐานที่ยืนยันความเก่าแก่ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุว่าได้สร้างมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งคือประติมากรรมปูนปั้นประดับเจดีย์ราย ที่เหลือครึ่งล่างเพียงครึ่งเดียวสันนิษฐานว่าประกอบไปด้วย เทวดา ครุฑ ยักษ์ ลิง อันเป็นส่วนยืนยันว่าวัดนี้น่าจะสร้างในราวสมัยอยุธยาตอนต้น รวมกับหลักฐานเดิมจากแผ่นลานทองที่เจอในกรุ จารึกถึงกษัตริย์สองพระองค์ที่ทรงสร้างและซ่อมพระปรางค์องค์ดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นสมัยเจ้าสามพระยา
แต่สิ่งที่ทำให้ฉันเกิดสงสัยและอยากได้ความกระจ่างในฐานะที่มาถึงวัดนี้พร้อมกับเซียนพระ พี่เกียง ก็คือ คำว่า “เบญจภาคี” ที่เขียนอธิบายถึงวัดนี้สั้นๆในข้อมูลของวัดที่เปิดดูจากมือถือ
เบญจภาคี เป็นการจัดชุดพระพิมพ์ โดยเริ่มมีขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) จากกลุ่มผู้นิยมสะสมพระเครื่อง โดยมีร้านขายกาแฟของมหาผัน สมัยนั้นนักนิยมพระเครื่องทั้งหลายมักเรียกกันว่า “บาร์มหาผัน”
เดิมทีการจัดพระชุดเริ่มจากไตรภาคี ซึ่งประกอบไปด้วย
- พระสมเด็จฯ วัดระฆัง พุทธคุณครอบจักรวาล ตัวแทนองค์พระเครื่องที่สร้างสมัยรัตนโกสินทร์
- พระนางพญาพิษณุโลกพิมพ์เข่าโค้ง เด่นทางเมตตามหานิยม อยู่ยงคงกระพันชาตรี ตัวแทนองค์พระเครื่องที่สร้างสมัยอยุธยา
- พระรอดพิมพ์ใหญ่ กรุมหาวัน ลำพูน เด่นทางด้านแคล้วคลาดนิรันตราย ตัวแทนองค์พระเครื่องที่สร้างสมัยทวารวดีตอนปลาย (หริภุญชัย)
ต่อมาเพิ่มอีก 2 องค์เพื่อความสมดุล กลายเป็นชุดเบญจภาคี
- 4. พระกำแพง ซุ้มกอ เด่นทางด้านโชคลาภ โภคทรัพย์ ตัวแทนองค์พระเครื่องที่สร้างสมัยสุโขทัย
- 5. พระผงสุพรรณพิมพ์ หน้าแก่ อันเป็นสถานที่เรามาดูกรุพระ และได้ไปเห็นว่ารูปทรงเป็นอย่างไร มีพุทธคุณเด่นทางด้านโภคทรัพย์ แคล้วคลาด อยู่ยง ตัวแทนองค์พระเครื่องที่สร้างในสมัยอู่ทอง
นอกจากนี้พี่เกียง ยังบอกว่าเบญจภาคี ตอนนี้แบ่งเป็น 2 เนื้อ คือเนื้อดิน และเนื้อชิน โดยเบญจภาคีชุดแรกนั้นจะเป็นเนื้อดิน หรือพระผง ส่วนเนื้อชินเป็นเนื้อโลหะ เริ่มมีการจัดลำดับในปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) โดยท่านตรียัมปวาย เรียกว่า “ชุดเบญจภาคีพระยอดขุนพลเนื้อชิน” ประกอบไปด้วย
- พระร่วงรางปืน จ.สุโขทัย
- พระหูยาน จ.ลพบุรี
- พระท่ากระดาน จ.กาญจนบุรี
- พระชินราชใบเสมา จ.พิษณุโลก
- พระมเหศวร จ.สุพรรณบุรี (อยุ่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เช่นเดียวกัน) มีลักษณะแปลกโดยองค์พระเป็นสองหน้าและให้พระศอสวนทางกัน สำหรับพระพิมพ์รูปพระมเหศวรทำให้เราตื่นใจกับความแปลกขององค์พระที่มีลักษณะเป็นสองหน้า แต่เป็นสองหน้าแบบสลับสวนทางกัน
