In This Post
ประวัติการสร้างและบูรณะวัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาสร้างในสมัย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ขุนหลวงพะงั่ว (ปกครองสุพรรณบุรี) เมื่อปี พ.ศ. 1917 แต่ไม่แล้วเสร็จ ทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน และได้สร้างเพิ่มเติมจนเสร็จ ในสมัย สมเด็จพระราเมศวร (ปกครองลพบุรี)
ความสำคัญของวัดมหาธาตุนั้น นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังถือเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางเมืองและเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยา โดยมีสมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสีประทับอยู่ภายในวัด ส่วนพระสังฆราช ฝ่ายอรัญวาสีนั้น ประทับอยู่ที่วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคล)
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ปรางค์ของวัดองค์เดิมที่สร้างด้วยศิลาแลง ยอดพระปรางค์ได้ทลายลงมาเกือบครึ่งองค์ แต่ยังมิได้ซ่อมแซมให้คืนดีดังเดิมในรัชกาลนั้น ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงบูรณะใหม่รวมเป็นความสูง 25 วา เมื่อปี พ.ศ. 2176 และบูรณะอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ. 2275 – 2301 ต่อมาวัดมหาธาตุโดนทำลายจนเหลือเพียงซากปรักหักพังและถูกทิ้งร้างเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่2 แต่ส่วนยอดพระปรางค์ได้พังทลายลงมาอีกครั้งในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

สิ่งก่อสร้างน่าสนใจในวัด
- พระปรางค์ขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันพังทลายลงมาหมดแล้ว แต่ราชทูตลังกาที่ได้เคยมาเยี่ยมชมวัดมหาธาตุ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไว้ว่า ที่ฐานของพระปรางค์ มีรูปราชสีห์ หมี หงส์ นกยูง กินนร โค สุนัขป่า กระบือ มังกร เรียงรายอยู่โดยรอบ รูปเหล่านี้อาจหมายถึงสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่รายล้อมอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล
- เจดีย์แปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์ลดหลั่นกัน 4 ชั้น 8 เหลี่ยม ชั้นบนสุดประดิษฐานปรางค์ขนาดเล็ก ซึ่งเจดีย์องค์นี้จัดว่าเป็นเจดีย์ที่แปลกตา พบเพียงองค์เดียวในอยุธยา
- วิหารที่ฐานชุกชี ของพระประธานในวิหาร กรมศิลปากรพบว่ามีผู้ลักลอบขุดลงไปลึกถึง 2 เมตร จึงดำเนินการขุดต่อไปอีก 2 เมตร พบภาชนะดินเผาขนาดเล็ก 5 ใบ บรรจุแผ่นทองเบารูปต่างๆ
- วิหารเล็ก วิหารเล็กแห่งนี้ มีรากไม้แผ่รากขึ้นเกาะเต็มผนัง รากไม้ส่วนหนึ่งได้ล้อมเศียรพระพุทธรูปไว้
- พระปรางค์ขนาดกลางภายในพระปรางค์ มีภาพจิตรกรรม เรือนแก้วซึ่งเป็นตอนหนึ่งในพุทธประวัติ
- ตำหนักพระสังฆราช บริเวณพื้นที่ว่างทางด้านทิศตะวันตก เคยเป็นที่ตั้งพระตำหนักพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสี ราชทูตลังกาได้เล่าไว้ว่า เป็นตำหนักที่สลักลวดลายปิดทอง มีม่านปักทอง พื้นปูพรม มีขวดปักดอกไม้เรียงรายเป็นแถวเพดานแขวนอัจกลับ (โคม) มีบังลังก์ 2 แห่ง

ศึกสองราชวงศ์ ระหว่างราชวงศ์อู่ทอง และราชวงศ์สุพรรณภูมิ
ประวัติสั้นๆของขุนหลวงพะงั่ว และ พระราเมศวร กษัตริย์องค์ที่ 2 และ 3 ของอยุธยา เป็นการแย่งชิงบัลลังก์กันระหว่างราชวงศ์อู่ทอง และราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งมีความใกล้ชิดเป็นเครือญาติกัน
เมื่อพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้ทรงแต่งตั้งให้ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเป็นพี่ชายของพระมเหสีไปปกครองเมืองสุพรรณบุรี และให้พระราเมศวรซึ่งเป็นพระโอรสไปปกครองเมืองลพบุรี
ในปี ค.ศ.1352 เกิดเหตุการณ์เจ้ากรุงเขมรแปรพักต์ไม่ยอมรับอยุธยาเป็นราชธานีใหญ่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้ส่งพระราเมศวรยกทัพไปปราบปรามแต่เจ้ากรุงเขมรสามารถโจมตีจนทัพหน้าของกรุงศรีอยุธยาแตกพ่าย พระรามาธิบดีที่ 1 จึงมีพระราชโองการเชิญขุนหลวงพะงั่วมาทำศึกช่วยพระราเมศวร ศึกทั้งสองฝ่ายใช้เวลาประมาณ 1 ปี กรุงศรีอยุธยาจึงสามารถเอาชนะเจ้ากรุงเขมรได้
ปี ค.ศ. 1369 พระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จสวรรคต พระราเมศวรได้เสด็จมาจากเมืองลพบุรีและขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ได้เพียงปีเดียวก็ถวายราชสมบัติให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพะงั่วผู้เป็นลุง ส่วนพระราเมศวรกลับไปครองเมืองลพบุรีเช่นเดิม
ขุนหลวงพะงั่ว จึงถือเป็นต้นราชวงศ์สุพรรณภูมิที่ได้ครองกรุงศรีอยุธยา ทรงครองราชอยู่นานถึง 18 ปี เป็นจอมทัพที่เข้มแข็ง ตลอดรัชสมัยของพระองค์มีการทำศึกสำคัญ เช่นช่วยพระราเมศวรรบกับเขมร และขึ้นไปทำสงครามกับเมืองฝ่ายเหนือเช่นเมืองชากังราว เมืองพิษณุโลก เชียงใหม่ และลำปาง
หลังสวรรคต พระเจ้าทองล้นพระโอรสของขุนหลวงพะงั่วได้ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาเป็นกษัตริย์องค์ที่ 4 แต่ครองราชย์ได้เพียง 7 วัน พระราเมศวรก็เข้ายึดกรุงศรีอยุธยา จับพระเจ้าทองล้นสำเร็จโทษ แล้วเสด็จขึ้นครองราชสมบัติทำให้อำนาจกลับคืนมาอยู่ในมือของราชวงศ์อู่ทองอีกครั้ง
แม้พระองค์จะทรงสำเร็จโทษพระเจ้าทองลันเพื่อชิงราชสมบัติ แต่ก็ทรงสร้างคุณูปการต่อกรุงศรีอยุธยาไว้หลายประการ ไม่ว่าจะด้านการศาสนาหรือการสงคราม สมัยของพระองค์บ้านเมืองร่มเย็นไม่มีเมืองต่างๆมารุกราน แต่พระองค์ทรงสามารถขยายอาณาเขตให้อยุธยายิ่งใหญ่ขึ้น โดยทำสงครามชนะล้านนา และขอม
ในด้านการศาสนาทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการสานต่อสร้างวัดมหาธาตุที่สร้างมาตั้งแต่สมัยขุนหลวงพะงั่วจนสำเร็จ และยังโปรดให้สถาปนาวัดภูเขาทองขึ้นในปี ค.ศ.1387 ด้วย
พระองค์ทรงครองราชย์ในครั้งที่ 2 กินเวลานาน 8 ปี เมื่อเสด็จสวรรคต พระเจ้ารามราชา พระโอรสก็ขึ้นครองราชย์ต่อ ในปี ค.ศ. 1395

Leave a Reply