ภาพของทะเลสาบสีน้ำเงินที่มีภูเขาไฟลูกเล็กอยู่ข้างใน แล้วทั้งหมดนี้ก็ถูกล้อมรอบอีกทีด้วยภูเขาไฟลูกใหญ่ที่ชื่อเพราะพริ้ง มีเสน่ห์ว่าภูเขาไฟรินจาณี คือแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ฉันอยากเดินทางมาเพื่อชมและสัมผัสความงามนี้ด้วยตัวเอง
In This Post
ที่มาทะเลสาบ Segara Anak
ทราบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ทะเลสาบนี้คือส่วนหนึ่งของปากปล่องภูเขาไฟรินจาณี ซึ่งหมายความว่าทะเลสาบและภูเขาไฟลูกเล็กนั้นอยู่ในปล่องภูเขาไฟเชียวเหรอ โอ้โห พอได้ฟังแล้วยิ่งรู้สึกอัศจรรย์ใจกับความสร้างสรรค์ของธรรมชาติ ว่าจะสร้างได้สวยอะไรขนาดนั้น
ความหลงใหลและอยากเห็นด้วยตาจึงต้องไปให้ถึงที่ ขอไปชื่นชมทะเลสาบในหลายๆมุม สัมผัสของจริงกัน เป็นที่มาของการเดินทางสู่เกาะลอมบอก มุ่งหน้าตรงไปยังภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น “รินจาณี” และแน่นอนว่าก็ต้องขึ้นไปชมทะเลสาบในปล่องภูเขาไฟจากยอดรินจาณีให้ได้ด้วยที่ความสูง 3,726 ม. ชมภาพทะเลสาบจากมุมสูงทางฝั่งนี้จนหนำใจตลอดทางที่เดินลงจากยอดรินจาณีในตอนสาย
ที่ทะเลสาบฉันมีโอกาสเพียงสั้นๆที่ได้ยืนมองภาพที่อยากเห็นขณะยืนแปรงฟันริมทะเลสาบ ภูเขาไฟ Barujari ลูกเล็กพ่นควันปุยๆบางๆ อยู่ริมทะเลสาบอีกฝั่งกับที่ตั้งแคมป์ของเรา เหนือขึ้นไปคือยอด Rinjani ที่ฉันขึ้นไปเมื่อวาน ทั้งหมดถูกล้อมรอบด้วยทะเลสาบใสสวยมากขึ้นเมื่อแสงแดดส่องประกายในตอนเช้าที่สงบเงียบ ก่อนที่แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้น จนต้องเดินย้อนกลับทางเดิมไม่สามารถเดินครบรอบและไปยืนชมทะเลสาบในมุมสวยที่เห็นจากรูปได้
ฉันดีใจที่เลือกมายืนที่นี่เพื่อมองภาพนั้นด้วยสายตาของตนเอง แต่ทะเลสาบกลับอยากให้ฉันทำความรู้จักมากกว่านั้น ด้วยแผ่นดินไหวขนาดความแรง 6.4 จนต้องหนีขึ้นมาตั้งหลักบนหุบเขา แล้วทิ้งทะเลสาบไว้เบื้องหลัง เพราะก่อนไปฉันสังเกตุว่าน้ำในทะเลสาบแห้งหายไปจากแผ่นดินไหวจนเห็นพื้น บ่อ หรือเดาเองว่าเป็นปล่องภูเขาไฟใต้ทะเลสาบมั้ง ก็เลยนึกสงสัยความเป็นมาของทะเลสาบสวยแห่งนี้ว่ามีที่มาอย่างไร เลยมาค้นหาดูพบว่าน่าสนใจดี อยากมาเล่าให้ฟังว่าความงามของที่นี่มีที่มาอย่างไร รู้จักทะเลสาบ Segara Anak มากขึ้นกว่าเดิมอีกหน่อย ใครมีโอกาสไปคราวหน้าจะมีอรรสรถในการชมทะเลสาบมากขึ้นอีกนิด
ก่อนปี 1257 ภูเขาไฟรินจาณีเคยมียอดสูงเคียงข้างกัน ชื่อภูเขาไฟซามาลัส (Mt.Samalas)
Mt.Samalas เคยมีความสูงประมาณ 4200 เมตร แต่เกิดเหตุปะทุระเบิดครั้งใหญ่เมื่อปี 1257 ว่ากันว่าเป็นระเบิดครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ2000 ปี เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดยุค Little Ice Age ในยุโรป อเมริกา เพราะฝุ่นควันไปบดบังแสงอาทิตย์ในชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิในหลายพื้นที่ในโลกลดลง เกิดทุพภิกขภัย ความอดอยากเนื่องจากภาวะแห้งแล้ง ปลูกพืชพันธ์ไม่ขึ้น สัตว์เลี้ยงล้มตาย ผลกระทบที่สำคัญที่เกิดขึ้นใกล้ตัวก็คือการทะลายลงไปของยอดภูเขาไฟ Samalas เหลือเพียงปากปล่องพื้นที่กว้าง ต่อมารับน้ำจากน้ำฝนจนกลายเป็นทะเลสาบ Segara Anak มีบางส่วนของภูเขาไฟเกิดเป็นลูกเล็กๆที่รอวันปะทุอีกหลายลูกอยู่ด้านใน และ Mt.Barujari ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งสูงขึ้นหลังจากการปะทุหลายครั้งรวมกับการปะทุของ Mt Rinjani ปล่อยให้ทรายจากด้านบนลงมาทับถมเพิ่มขึ้นในอีกหลายร้อยปีต่อมา จนได้ภาพทะเลสาบสวยแบบที่เราได้เห็นกันในวันนี้
แผ่นดินไหวทำให้ฉันมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับอดีตของทะเลสาบ ซึ่งเคยเป็นภูเขาไฟสูงใหญ่มาก่อนที่พังทลายไปแล้วแต่ยังทรงพลังดุเดือดอยู่ภายใต้ทะเลสาบ ส่งสัญญาณของพลังนั้นผ่านมาทางภูเขาไฟBarujari หลายครั้ง ว่าที่แห่งนี้ยังไม่สงบ โปรดระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นฉันก็คงเพียงแค่เดินจากทะเลสาบไป กับความประทับใจในความงามสงบของที่นี่เท่านั้น โดยไม่สนใจที่มาของสิ่งที่ฉันอยากเห็น
น้ำในทะเลสาบลดลงขณะแผ่นดินไหว
เมื่อแผ่นดินไหวครั้งแรกสงบลง หันกลับไปมองทะเลสาบ Segara Anak ปรากฎว่าปริมาณน้ำในทะเลสาบที่เต็มเปี่ยม สงบนิ่ง มีคนนั่งตกปลา ชมวิวก่อนหน้านั้นลดลง จนได้เห็นปากปล่องภูเขาไฟอื่นๆที่อยู่ใต้ทะเลสาบ น่าจะเป็นเพราะการเคลื่อนตัวของแผ่นดินข้างใต้ทำให้น้ำลดลงไป ฉันไม่รู้ว่าเป็นแบบนี้อยู่นานแค่ไหน แต่จำได้ว่าเมื่อขึ้นมาบนเขาตรงจุดพักช่วงบ่ายแล้วมองลงไป น้ำในทะเลสาบก็กลับคืนเป็นปกติแล้วเหตุการณ์นี้เรียกว่าแปลกที่สุดสำหรับคนที่ไม่เคยเจอแผ่นดินไหวแบบจริงจังอย่างฉัน แล้วก็ยังมีโอกาสได้เห็นปากปล่องภูเขาไฟใต้ทะเลสาบนี้ด้วย นอกจากปล่องภูเขาไฟบารู
Leave a Reply