เมื่อก้าวเท้าลงจากแท็กซี่คันเล็กที่เรานั่งมาจากสถานีรถไฟ จตุรัส Djemaa el Fna คือจุดหมายของเราเพื่อจะต่อไปยังที่พัก จตุรัสแห่งนี้ก็เหมือนกับจุดศูนย์รวมทุกอย่างของเมืองมาราเกซ เราสองคนพยายามจับต้นชนปลายถึงจุดที่เรายืนอยู่ว่ามันคือตรงไหนของแผนที่ในมือ แต่ทั้งรถมอเตอร์ไซต์ รถยนต์ รถเข็นของ รวมทั้งลาลากจูงสินค้า อีกทั้งผู้หวังดีรอบๆข้างเมื่อเห็นนักท่องเที่ยวหน้าใหม่มาเยือนที่พยายามเข้ามาสอบถามว่าจะไปไหน เสียงเรียกทักทาย คนนิจิวะบ้าง หนีห่าวบ้าง where are you from ?บ้าง และอีกหลายๆอย่าง ทำให้เราแทบจะไม่สามารถใช้เวลาซักพักในการปรึกษาหารือกัน หรือตั้งสติกับชีวิตของตัวเองในขณะนั้นได้เลย สุดท้ายพอโดนถามบ่อยๆเข้า รวมทั้งเราพูดปรึกษากันเองว่าจะไปไหน พอโดนจับใจความได้เท่านั้น ก็เลยบอกจะพาไปส่งซะเลย ทั้งที่เราไม่ได้ต้องการ สุดท้ายก็เลยต้องเสียเงินค่านำทางไปซะจนได้
In This Post
+ Djemaa el Fna
เราไปถึงจตุรัสแห่งนี้ในช่วงบ่ายๆ บรรยากาศก็คึกคักแล้วมีร้านค้า ผู้คนเดินกันพลุกพล่าน แต่หลังจากเก็บของเข้าที่พักก็ออกมาสำรวจที่ทางในยามเย็นอีกครั้ง ความคึกคักที่เราเห็นเมื่อช่วงบ่าย เทียบไม่ได้เลยกับเมื่อเริ่มเข้าสู่ยามเย็น ผู้คนเดินเล่นกันมากขึ้น การแสดงต่างๆก็มากขึ้น ร้านค้า ร้านอาหารยิ่งมากขึ้นอีก ทั้งลานห้อมล้อมไปด้วยตลาดหรือที่เรียกกันว่าซุค (souqs) ขายของ ชั้นในมาหน่อย ก็เป็นลานกว้างมีร้านขายถั่ว ขายน้ำส้มเรียงรายกันเป็นแถว ด้านในเข้ามาอีกเป็นร้านขายน้ำชา ขนมหวาน หอยดอง และแผงร้านอาหารแข่งกันส่งกลิ่นหอม และควันคละคลุ้ง ไปจนทั่ว หลายๆมุม มีของเล่นแบ่งเป็นกลุ่มๆ มีการแสดง เล่าเรื่องล้อมเป็นวงใหญ่ๆ ฉันและเพื่อนพยายามแทรกตัวเข้าไปดู แต่ก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่อง เพราะพูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง ยิ่งบางกลุ่มพอเห็นเราหน้าตาแปลกๆ ทำท่าจะเรียกไปร่วมวงด้วยซะงั้น เลยต้องรีบฉากหนีออกมา ก่อนจะบ้ายอไปกับเค้าด้วย
ที่นี่ยังมีกลุ่มผู้หญิงนั่งล้อมวงรับจ้างเพ้นท์สีเฮนน่าที่มือ หมองูคอยเรียกคนไปดู เราแอบไปยืนดู เหมือนเวลาดูโชว์งูบ้านเรา กว่าจะออก กว่าจะโชว์ได้แต่ละท่า เล่นตัวกันเหลือเกิน แต่ลีลาของคนแสดงก็เรียกความสนุกสนานจากผู้ชม เพราะเห็นหัวเราะ หยอกล้อ กันน่าสนุก แถมมีขายยากันเป็นระยะ เรียกเงินจากกระเป๋าคนดูได้ไม่น้อย บรรดาคนขายน้ำ แต่งตัวเพื่อรอนักท่องเที่ยวมาขอถ่ายรูป เพื่อเรียกค่าตอบแทนเล็กๆน้อยๆ ก็มีหลายเจ้า บางกลุ่มเหมือนเดินทางมาไกลเพื่อมาแสดงดนตรีโชว์ในจตุรัสแห่งนี้
ภาพสีสันชีวิตเหล่านี้ เค้าว่ามีกันมาตั้งแต่อดีตหลายร้อยปี เป็นแหล่งความบันเทิง แหล่งรวมผู้คนที่เดินทางมาจากทะเลทรายทางใต้ และยังคงอยู่ให้เห็นเหมือนภาพละครชีวิตในอดีต แต่มันคือเรื่องจริงของคนที่นี่ จนต้องอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกโลกที่มีชีวิต
Djemaa el Fna เป็นไฮไลท์ของมาราเกซ เพราะคือจุดนัดพบที่ชายขอบโลก ตามความหมายดั้งเดิม Djemaa แปลว่า meeting place ส่วนคำว่า el Fna แปลว่า The end หรือ death ตามความหมายรวมกันก็คือ meeting place at the end of the world เป็นจุดนับพบ หรือจตุรัสที่ไม่เหมือนใครในโลก มันไม่คลาสสิค เหมือนจตุรัสใหญ่ๆ ในยุโรป ไม่ได้มีเพียงแค่ร้านอาหาร ร้านขายของอย่างตลาดสวนลุมบ้านเรา แต่เหมือนงานวัดใหญ่ๆที่มีทุกวัน ทั้งการแสดง สินค้า แผงลอยขายขนม อาหาร และยิ่งรวมกับวิถีชีวิตของคนที่นี่ เหมือนกับเรากำลังหลงยุคเข้าไปในอีกดินแดนหนึ่งทีเดียว


































+ Hammam
เรื่องนี้ติดเรทหน่อย แต่อยากเล่าเพราะเป็นอีกหนี่งประสบการณ์ที่ไม่อยากลืมค่ะ Hammam ก็คือการอาบน้ำไงคะ ไปเที่ยวมาหลายที่แล้ว ที่ได้รับทราบเรื่องราวโรงอาบน้ำ อย่างที่ตุรกีเมืองเก่าสมัยโรมันยึดครองหลายเมือง มีซากโรงอาบน้ำ เป็นหลักฐานคู่ความเจริญทางวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนชั้นสูง คนมีฐานะ เป็นสิ่งที่คู่กับความรุ่งเรืองของคนโรมัน แม้แต่ในอังกฤษหลักฐานการมีอยู่ของคนโรมันที่นั่นก็คือโรงอาบน้ำที่เมืองบาธ ต่อมาคนมุสลิมก็รับเอาวัฒนธรรมเรื่องการอาบน้ำเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันด้วย
เรื่องการอาบน้ำดูจะเป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับคนยุคก่อน เอ่อ… จะว่าไปเดี๋ยวนี้ก็ยังสำคัญอยู่นะ ไม่งั้นสกปรกแย่เลย 🙂 แต่ก็อาบกันคนละแบบ
มาคุยเรื่อง Hammam กันต่อดีกว่าค่ะ การอาบน้ำในโรงอาบน้ำรวม สำหรับคนไทย คงไม่ค่อยคุ้นเคยกัน การอาบน้ำรวมในที่สาธารณะอย่างนี้ ถ้าเป็นแถวเอเชียรสนิยมการอาบน้ำรวมก็ยกให้ญี่ปุ่นเค้าหละค่ะ พวกนี้เลยไม่ค่อยเขิน เวลามาอาบน้ำรวม จำได้ว่าตอนไปอาบน้ำออนเซ็นที่ญี่ปุ่น เห็นหน้าตาหงิมๆ แต่พอเข้าห้องน้ำเท่านั้น แกสะบัดผ้าถอดฉับ ฉับ แล้วก็เดินโทงๆ เข้าห้องน้ำ ปล่อยให้เรายืดคิดแล้วคิดอีกอาบดี ไม่อาบดีอยู่นั่นแหละ ไม่ก็รอคนออกจนหมด แล้วค่อยย่องๆเข้าไปอาบต่อตอนห้องน้ำไม่มีใครแล้วถึงจะกล้าอาบ
โรงอาบน้ำเป็นที่พบปะพูดคุยสังสรรค์กันแบบเปิดอก อย่างสาวๆที่โมร็อคโคนิยมไปอาบน้ำด้วยกัน โดยเฉพาะวันก่อนแต่งงานจะเชิญญาติ และเพื่อนสนิทมาสังสรรค์กันอย่างเต็มที่ ก็คงเหมือนพวกหนุ่มๆ จะออกไปฉลองกันอย่างสุดเหวี่ยงนั่นแหละ
Hammam ของที่นี่บางแห่งก็พัฒนาไปทันสมัยถึงขั้นเป็นสปา มีบริการอย่างหรูหรา แต่ที่เราไปกัน เป็นโรงอาบน้ำสาธารณะ ในซอยใกล้ๆริยาดที่เราพัก ค่าเข้าไปอาบน้ำ คนละ 10 DH เตรียมผ้าห่ม สบู่ ยาสระผม อุปกรณ์ไปให้พร้อมนะคะ มีบริการช่วยขัดตัว (Gommage) คนละ 50 DH ภายในโรงอาบน้ำเป็นโถงใหญ่หลังคาสูง ไอความร้อนที่แผ่กระจายช่วยให้คลายความหนาวเย็นจากด้านนอกกำลังดี พอไปถึงก็เก้ๆ กังๆ กันซักพักตามประสาสาวไทย โอ้มายก็อด เค้าถอดกันหมดเลย เราเลยยืนเขินกัน ป้าที่นั่นเลยเข้ามาช่วยเหลือ ถอด ถอด แล้ว ก็ถอดจนหมด เราก็เดินกระมิดกระเมี้ยน ตามแกเข้าโรงอาบน้ำ ด้วยบริการขัดตัวที่เราอยากลอง ป้าเลยลากเราไปขัดถู อาบน้ำ ฟอกสบู่ สระผม ให้เราจนเกลี้ยงเกลา นอนกลิ้งไป กลิ้งมาอยู่แทบเท้าแกนั่นแหละ แล้วก็ขัดซะเอี่ยมอ่อง ชนิดที่เรานึกไปว่าถ้าแม่มาเห็น แม่คงต้องอายไปเลย เพราะไม่เคยขัดให้ลูกสาวคนนี้ซะสะอาดอย่างนี้มานานแล้ว แถมยืนกำกับคอยคุมเรารดน้ำทำความสะอาดตัวเองว่าตรงนั้นอีก ตรงนี้อีก :0 เสร็จแล้วก็เดินตัวเบาโหวงออกมา สบายตัว นอนหลับสบายสำหรับคืนแรกในโมร็อคโค กับการเดินทางที่แสนยาวไกลจากเมืองไทย
Leave a Reply