ฉันเดินเข้าไปเที่ยวชมพระราชวังมัณฑะเลย์ ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่โอ่อ่าล้อมรอบด้วยคูเมืองกว้าง อาคารเกือบทุกหลังภายในบริเวณพระราชวังเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่เนื่องจากของเดิมถูกทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งที่เห็นเป็นสิ่งที่สร้างและวางผังเลียนแบบของเดิม โดยมีการนำปูนเข้ามาใช้ร่วมในการก่อสร้างในขณะที่ของเดิมเป็นไม้สักทั้งหมด การแบ่งอาคารและห้องพักต่างๆ ทำให้พอจินตนาการภาพชีวิตในวังสมัยนั้นได้บ้าง
รอบๆ พระราชวังไม่ไกลกันมีวัดสำคัญประจำเมือง ซึ่งมีพระเจดีย์ทอง วัดที่มีการแกะสลักไม้สวยงามละเอียดปรานีต แสดงความวิจิตรบรรจงที่ใครเห็นก็ต้องอดชื่นชมในความสวยงามเหล่านั้น ฉันเดินขึ้นบันไดไปยังหอสูงประจำพระราชวังอาคารเก่าที่รอดจากการถูกทำลาย เพื่อชมวิวโดยรอบพระราชวังจากมุมสูง พื้นที่ภายในวังส่วนใหญ่หนาแน่นไปด้วยต้นไม้ร่มรื่น เห็นตัวเมืองมัณฑะเลย์อยู่รอบนอก และประชาชนเดินเล่นอยู่รอบคูเมือง ในขณะที่ภายในพระราชวังตอนนี้เป็นสถานที่ถ่ายรูปสวยงามสำหรับบรรดานักท่องเที่ยว
อ่าน เรื่องน่ารู้เพื่อการเดินทางในมัณฑะเลย์ แล้ว เที่ยวมัณฑะเลย์ย้อนรอยความรุ่งเรืองของพม่า เพื่อความสนุกและความพร้อมในการเดินทาง

ระยะเวลา 30 ปี จนถึงปี 1885 ที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังฤษผ่านการปกครองในอินเดีย ความคับแค้นใจที่อังกฤษทำไว้กับพม่า ทำให้พม่าเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้เป็นหนึ่งในเครือจักรภพของอังกฤษหลังได้รับเอกราช พระราชวังนี้มีเรื่องราวให้เล่าขานและเข้มข้นมากมาย
In This Post
ราชวงศ์โก้นบอง หรือ ราชวงศ์อลองพญา
เป็นราชวงศ์ที่ 3 ในประวัติศาสตร์พม่า และเป็นราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ก่อนที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และสิ้นสุดการปกครองระบอบราชาธิปไตยของพม่า
ราชวงศ์อลองพญานั้นได้รับการสถาปนาขึ้นโดยการเสวยราชสมบัติของพระเจ้าอลองพญาในปีค.ศ.1752 พระองค์ขับไล่ชาวมอญและยึดครองอาณาจักรมอญได้อีกครั้งในปีค.ศ.1759 ภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์ตองอู ทั้งยังสามารถกลับเข้ายึดครองเมืองมณีปุระได้ในช่วงเวลาเดียวกัน ทรงสถาปนาเมืองชเวโบขึ้นเป็นราชธานีแรก ก่อนจะย้ายไปที่อังวะและทรงพัฒนาเมืองย่างกุ้ง หมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ขึ้นเป็นเมืองท่าสำคัญ
ต่อมาพระเจ้าอลองพญาได้ทรงนำทัพบุกกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากทางอยุธยาได้ให้การสนับสนุนมอญที่ลี้ภัยสงครามเข้ามาพึ่งกษัตริย์ไทย ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศและไม่พอใจที่อยุธยายึดเรือสินค้าที่จะเดินทางมาค้าขายกับพม่าที่เมืองมะริด โดยเดินทัพเข้ามาทางด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จและสิ้นพระชนม์หลังจากการทำสงครามครั้งนั้น พระเจ้ามังระ หรือชินพยูชิน (Hsinbyushin) ผู้เป็นพระราชโอรสของพระองค์ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของพระราชบิดาต่อ โดยได้ส่งทัพใหญ่มา 2 ทางล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ.1764 ทางหนึ่งให้เนเมียวสีหบดีนำพลเข้ามาทางเหนือด้วยการตีล้านนา ล้านช้างและหัวเมืองเหนือก่อน และอีกทางหนึ่งให้มังมหานรธานำกองทัพเข้ามาทางใต้ ทั้ง 2 ทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้นานถึง 1 ปีครึ่งแม้ผ่านฤดูน้ำหลากก็ไม่ยกทัพกลับ ภายหลังแม่ทัพฝ่ายใต้ คือ มังมหานรธา เสียชีวิตลงก็ส่งแม่ทัพคนใหม่จากเมืองเมาะตะมะชื่อ เมงเยเมงละอูสะนา เข้ามาทำหน้าที่แทนจนในที่สุดก็สามารถตีกรุงศรีอยุธยาแตกได้ในปีค.ศ.1767 แต่กองทัพพม่าก็อยู่ได้ไม่นานเนื่องจากพระเจ้ามังระทรงให้เร่งทำการและรีบกลับเพื่อทำสงครามกับจีนในรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลง
ถึงแม้อาณาจักรอยุธยาจะถูกทำลายแต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงสถาปนาศูนย์กลางอำนาจขึ้นมาใหม่ที่กรุงธนบุรี พระเจ้ามังระจึงทรงส่งแม่ทัพคนใหม่มา คือ อะแซหวุ่นกี้ นำทัพใหญ่เข้ามาปราบปรามฝ่ายธนบุรีในปีค.ศ.1775 อะแซหวุ่นกี้สามารถตีหัวเมืองพิษณุโลกแตกและกำลังจะยกทัพลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ต้องยกทัพกลับเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้ามังระในปีค.ศ.1776 จากนั้นก็เกิดการแย่งชิงราชสมบัติราว 4–5 ปี ก่อนที่จะกลับมามีความมั่นคงขึ้นอีกครั้งในรัชสมัยของพระเจ้าปดุง (Bodawpaya) พระองค์ทรงยกทัพเข้าตีดินแดนยะไข่ได้สำเร็จ ซึ่งไม่เคยมีกษัตริย์พม่าพระองค์ใดทำได้มาก่อน ทำให้พระองค์เกิดความฮึกเหิม ยกกองทัพใหญ่มา 9 ทัพ 5 เส้นทาง ที่เรียกว่า สงครามเก้าทัพ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ในรัชสมัยพระเจ้าบายีดอ (Bagidaw) พม่าได้ยึดครองแคว้นอัสสัมของอินเดียได้สำเร็จ ทำให้พม่าต้องเผชิญหน้ากับจักรวรรดิอังกฤษซึ่งกำลังล่าอาณานิคมอยู่ในขณะนั้น ก่อให้เกิดเป็นสงครามที่เรียกว่า “สงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 1” กินระยะเวลา 2 ปี คือปี 1824-1826 สงครามจบลงด้วยชัยชนะของอังกฤษด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่า มหาบัณฑุละ แม่ทัพพม่าที่เลื่องชื่อก็เสียชีวิตลง ทำให้ต้องลงนามในสนธิสัญญาชื่อ สนธิสัญญารานตะโบ พม่าจำต้องยกเมืองที่สำคัญให้แก่อังกฤษ เช่น มณีปุระ ยะไข่ ตะนาวศรี
ปีที่สร้างพระราชวังมัณฑะเลย์
ในรัชสมัยของพระเจ้ามินดง (Mindon) พระองค์พยายามที่จะฟื้นฟูความเข้มแข็งของอาณาจักรขึ้นมาอีกครั้ง โดยสถาปนามัณฑะเลย์ขึ้นเป็นราชธานีมีการสร้างพระราชวังอย่างใหญ่โต เริ่มสร้างพระราชวังในปี 1857 เสร็จสมบูรณ์ในปี 1859 แบบแปลนพระราชวังเป็นแบบพม่าดั้งเดิม ซึ่งตั้งอยู่ภายในป้อมกำแพงล้อมรอบด้วยคูเมือง พระราชวังอยู่ใจกลางของป้อมปราการ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาคารพระราชวังทั้งหมดเป็นอาคารชั้นเดียว และมีหลังเป็นชั้นๆเหนืออาคาร จำนวนชั้นนั้นแสดงความสำคัญของแต่ละอาคาร

แต่ในรัชสมัยของพระโอรสของพระองค์ คือ พระเจ้าธีบอ (Thibaw) พระองค์ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศไว้ได้ทำให้นำไปสู่การทำสงครามกับอังกฤษอีกครั้ง และครั้งนี้อังกฤษสามารถครอบครองพม่าไว้ได้หมดทั้งประเทศในปี1885 ทำให้พระเจ้าธีบอ (Thibaw) ถูกบังคับให้สละราชสมบัติและเนรเทศไปอยู่ที่อินเดียหลังสิ้นสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่สาม ทรงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าและเป็นการสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ในพม่าที่มีมายาวนาน พระราชวังแห่งนี้จึงมีกษัตริย์ใช้เป็นที่ประทับเพียง 2 พระองค์เท่านั้น
ราชวงศ์โก้นบอง มีกษัตริย์ทั้งหมด 11 พระองค์ กินระยะเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1752 จนถึงปี ค.ศ.1885 มีเมืองหลวงหลายเมือง ทั้งชเวโบ สะกาย อังวะ อมรปุระ และมัณฑะเลย์
พระนางศุภยาลัต (Supayalat)

ประสูติ 13 ธันวาคม 1859 สิ้นพระชนม์ 24 พฤศจิกายน 1925 พระราชินีพระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อลองพญา ประสูติแด่พระเจ้ามินดง กับพระนางชินพยูมาชิน (Hsinbyumashin ; นางพญาช้างขาว หรือที่รู้จักกันในนามพระนางอเลนันดอ) ด้วยความทะเยอทะยานของพระนางศุภยาลัต พระนางจึงได้เป็นพระราชินีในพระเจ้าธีบอ (Thibaw) พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งพม่า
อุปนิสัยของพระนางศุภยาลัตมีลักษณะเหมือนพระนางอเลนันดอหรือพระนางศุภยากะเลซึ่งเป็นพระราชมารดา คือ มีความทะเยอทะยาน เจ้ากลอุบาย ใจร้าย ขี้หึง ในขณะที่พระเจ้ามินดงประชวรหนัก พระนางอเลนันดอซึ่งเป็นพระมเหสีรอง เรียกพวกเสนาบดีประชุมในที่รโหฐานและประกาศตั้งเจ้าฟ้าธีบอ ซึ่งอ่อนแอ นิสัยเชื่องช้า และหัวอ่อน ทรงบวชเป็นพระมาตลอด ทำให้พระนางเห็นว่าน่าจะควบคุมได้ เป็นรัชทายาท (พระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัต เป็นพี่น้องต่างแม่กัน) จากนั้นจับกุมบรรดาเจ้าฟ้าและขุนนางในฝ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พวกของตัวเองเข้าคุกและฆ่าไปมากมาย เป็นการสังหารหมู่ที่สะเทือนใจต่อชาวพม่ามากที่สุด ต่อมาเมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคตแล้ว ก็ให้เจ้าฟ้าธีบอ (Thibaw) ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงพม่า
พระนางศุภยาลัต ไม่พอใจที่อังกฤษให้ค่าสัมปทานป่าไม้น้อย และฝรั่งเศสทำท่าจะเข้ามาเสนอให้มากกว่าประกอบกับมีการกล่าวหาว่าอังกฤษลอบตัดไม้เกินกว่าที่ได้รับสัมปทาน พม่าเลยสั่งปรับอย่างหนักถึง 1 ล้านรูปี อังกฤษไม่พอใจยื่นประท้วง แต่พม่าไม่ยอม ตอนนั้นพระนางศุภยาลัตคิดว่าตัวเองมีฝรั่งเศสหนุนหลัง แต่เมื่อเกิดเรื่องเข้าจริง ๆ ฝรั่งเศสก็วางตัวเป็นกลาง
วันที่ 17 ตุลาคม 1885 อังกฤษก็เริ่มส่งข้อเรียกร้องขั้นเด็ดขาด และพม่ายอมไม่ได้ เช่น ให้อังกฤษเป็นคนควบคุมนโยบายการค้าการเดินเรือของพม่าทั้งหมด มิฉะนั้นจะรบกับพม่า ซึ่งขณะนั้นอังกฤษได้ยึดพม่าได้ทางใต้ได้แล้วจากสนธิสัญญารานตะโบ
พระเจ้าธีบอตามพระทัยมเหสีจึงสั่งให้เตรียมพลรบ อังกฤษก็ให้นายพลแฮร์รี เพนเดอร์กาส นำทหารทั้งอังกฤษและอินเดียเคลื่อนพลเข้ารบจากย่างกุ้งบุกไปตามลำน้ำอิระวดีถึงมัณฑะเลย์ นับเป็นสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 ใช้เวลาการรบแค่ 14 วัน อังกฤษก็ยึดเมืองหลวงมัณฑะเลย์ได้ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากอาวุธที่ดีกว่าอย่างเทียบไม่ติด แต่เหตุผลสำคัญที่สุดคือราษฎรไม่คิดจะต่อสู้เพราะไม่รู้จะสู้ไปเพื่ออะไร เนื่องจากรัฐบาลของพระเจ้าธีบอโดยพระนางศุภยาลัต กดขี่พวกเขามาตลอด บ้านเมืองจึงขาดความสามัคคีขนาดหนัก เนื่องจากกษัตริย์และมเหสีไม่เคยทำตนให้เป็นที่รักของประชาชนพม่าของพระองค์เอง พม่าจึงพ่ายแพ้สงคราม พระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัตจึงถูกเชิญให้ไปยังเมืองรัตนคีรี ซึ่งเป็นการสิ้นสุดเอกราชของพม่า และการปกครองโดยราชวงศ์โก้นบองหรือราชวงศ์อลองพญาที่มีอย่างยาวนาน
เมื่อถูกถอดจากบัลลังก์ อังกฤษก็ได้เชิญพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตไปประทับยังบริติชราช ทั้งสองพระองค์ประทับที่เมืองมัทราสราว 2-3 เดือน ก่อนจะถูกส่งไปประทับถาวรที่เมืองรัตนคีรีเมืองเล็ก ๆ ทางชายฝั่งทะเล ทางใต้เมืองบอมเบย์ (มุมไบในปัจจุบัน) พระนางศุภยาลัตเกิดทะเลาะกับพระนางอเลนันดอ จนพระนางอเลนันดอต้องขอกลับพม่า อังกฤษก็ยอมให้กลับโดยคุมตัวไว้ที่เมืองเมาะลำเลิงจนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าธีบอกับพระนางศุภยลัตถูกเนรเทศอยู่ที่บริติชราชนาน 31 ปี พระเจ้าธีบอสิ้นพระชนม์และพระศพอยู่ที่เมืองรัตนคีรีนั่นเอง ส่วนพระนางศุภยาลัตต่อมาได้รับอนุญาตให้พาพระธิดากลับไปอยู่ย่างกุ้ง และสิ้นพระชนม์ที่นั้นโดยที่พระศพก็ถูกฝังอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง ทั้งสองพระองค์จึงไม่มีโอกาสได้กลับแผ่นดินเกิดของตัวเองอีกเลยแม้เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว
พระราชวังมัณฑะเลย์
วิธีการเดินทาง สิ่งที่ควรรู้ และค่าเข้าชม
พระราชวังมัณฑะเลย์ อยู่บริเวณเชิงเขามัณฑะเลย์ ใกล้ๆกันมีกลุ่มวัดและเจดีย์ที่สำคัญของมัณฑะเลย์อยู่รวมกัน การไปเที่ยวจึงสามารถเที่ยวชมพร้อมกันทั้งหมดได้โดยใช้เวลาเพียงครึ่งวัน แล้วปิดท้ายที่การขึ้นชมวิวเมืองมัณฑะเลย์บนมัณฑะเลย์ฮิลล์
ทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก หลังข้ามคูเมือง รถที่ไปส่งจะจอดรออยู่นอกกำแพง เราต้องนำพาสปอร์ตไปลงทะเบียน พร้อมแจ้งชื่อที่พักในมัณฑะเลย์ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้ป้ายคล้องคอเป็นหลักฐานการรับฝากพาสปอร์ต อีกด้านหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ขายตั๋วหากมีบัตร Mandalay Archeological Zone Fee Card แล้วก็เพียงแค่ให้เจ้าหน้าที่เช็ค แต่ถ้ายังไม่มีก็สามารถซื้อบัตรได้ที่นี่
Note!!!! อย่าลืมนำพาสปอร์ต (Passport) ติดตัวมาด้วย

จากตรงประตูกำแพงต้องเดินไปยังหมู่พระราชวังประมาณ 500 เมตร มีรถมอเตอร์ไซค์ และจักรยาน ให้บริการรับส่ง เห็นตะโกนว่าราคา 1,000 จ๊าด ราคานี้น่าจะรวมรับกลับมาส่งที่หน้ากำแพงด้วยหลังจากชมเสร็จแล้ว ลองสอบถามต่อรองราคาดูค่ะ ฉันไม่ได้ใช้บริการ แต่เดินเข้าไปเอง เพราะชะเง้อมองแล้วก็ร่มรื่นมีต้นไม้ใหญ่ตลอดทาง มองเห็นพระราชวังไม่ไกล ประตูทางเข้านี้รถมอเตอร์ไซค์ รถจักรยานต้องลงจากรถแล้วจูงผ่านประตูเข้าไป พอพ้นประตูก็ค่อยสตาร์ทเครื่อง ขึ้นขี่ไปต่อ
พระราชวังมัณฑะเลย์ ยังคงเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและพุทธศาสนาของชาวพม่า ดังนั้นการแต่งกายเข้าเที่ยวชมจึงต้องให้ความเคารพสถานที่เช่นเดียวกัน ห้องที่เปิดให้เข้าชมภายในนักท่องเที่ยวต้องถอดรองเท้า ถุงเท้าก่อนเข้าไปเช่นเดียวกับโบราณสถานอื่นๆ ดูข้อปฏิบัติในการเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว
เที่ยวชมภายในบริเวณพระราชวัง
พระราชวังไม้สักที่เคยขึ้นชื่อว่าสวยงามที่สุดในเอเชีย แต่พระราชวังเดิมนั้นถูกระเบิดไฟเผาไหม้จนเหลือแต่ฐานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอังกฤษฝ่ายสัมพันธมิตรเพราะเชื่อว่าภายในพระราชวังเป็นแหล่งซ่องสุมกำลังของญี่ปุ่น
ตัวพระราชวังในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นมาใหม่บนพื้นที่เดิม ของเก่าที่หลงเหลือไม่ถูกทำลายมีเพียงหอคอย และโรงกษาปณ์ ภายในพื้นที่พระราชวัง โดยได้มีการสร้างให้เหมือนของเดิมมากที่สุด และมีการจำลองรูปปั้นของกษัตริย์พม่าและพระมเหสีในอดีตในเครื่องทรงกษัตริย์ แต่ทั้งนี้ก็ยังเป็นที่ติติงกันว่าพระราชวังจำลองที่สร้างขึ้นมาแทนที่ของเดิมนั้นขาดรายละเอียดทางศิลปะพม่าดั้งเดิมมากมาย แม้จะมีความใหญ่โตโอ่อ่าไม่แพ้ของเดิม แต่ด้อยในเรื่องความวิจิตรงดงามแบบพระราชวังเดิมในอดีต กลุ่มอาคารด้านในจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แต่ของชิ้นสำคัญเช่น พระแท่นสิงหาสน์ (Lion Throne) หรือ สีหสาสนบัลลังก์ ถูกนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติพม่า เมืองย่างกุ้ง

วัดไม้สัก หรือ วัดชเวนันดอ (Shwenandaw Monastery)
วัดไม้สัก หรือวัดชเวนันดอว์ นี้ไม่ได้อยู่ในบริเวณพระราชวังมัณฑะเลย์ แต่ครั้งหนึ่งเคยเป็น พระราชมณเฑียรทอง หรือพระตำหนักเก่าของพระเจ้ามินดง ที่ทรงย้ายมาจากเมืองอมรปุระ มาเป็นหนึ่งในอาคารหลักของพระราชวังมัณฑะเลย์ ภายหลังพระเจ้าธีบอได้สั่งให้รื้อออกมานอกเขตพระราชวัง และยกให้เป็นวัด จึงนับได้ว่าเป็นอาคารหลักเดียวของพระราชวังไม้ดั้งเดิมที่เหลืออยู่ของพระราชวังมัณฑะเลย์ อาคารสร้างขึ้นมาจากไม้สักทองแล้วใช้ทองคำปิดตัววัดทั้งหลัง จึงทำให้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Golden Palace Monastery แต่ปัจจุบันทองคำที่ปิดเอาไว้ได้หลุดลอกออกไปเกือบหมดแล้ว จะเหลือก็เพียงด้านในบางส่วนเท่านั้น มีจุดเด่นที่สำคัญมากคืองานแกะสลักเนื้อไม้ที่มีความละเอียดงดงาม เกี่ยวกับเรื่องราวทศชาติของพระพุทธเจ้า

ที่วัดนี้จึงเป็นสถานที่ที่พอจะได้เห็นภาพของพระราชวังไม้สัก และงานแกะสลักที่งดงามของช่างพม่าสมัยก่อนในพระราชวังมัณฑะเลย์ได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันฝีมืองานช่างพม่าเหล่านี้นับว่าขาดช่วง และขาดการสานต่อไปแล้ว
ข้อมูลอ้างอิง : Wikipedia ภาษาไทย https://th.m.wikipedia.org/wiki/ราชวงศ์โก้นบอง ,https://th.m.wikipedia.org/wiki/พระนางศุภยาลัต
Leave a Reply