ทริปนี้ออกเดินทางวันที่ 18-21 มีนาคม 2564 ออกจะเป็นเดือนที่เข้าสู่หน้าร้อนของไทย ซึ่งคนขี้ร้อน และมักจะเดินป่าต่างประเทศเป็นหลักอย่างฉัน ต้องสูดหายใจให้เต็มที่ก่อนจะรับปากจัดทริปนี้กับเพื่อนๆ เพื่อเดินเขาเทรคกิ้งหลังจากห่างเหินกันมานาน แต่ในที่สุดความคิดถึงป่า อยากกลับมาสู่วิถีชีวิตที่ยากลำบากกับธรรมชาติก็ทำให้ฉันออกเดินทางสู่เขาล้อนกับเพื่อนรวม 5 คน
ความประทับใจจากการเดินป่าเขาหลวง นครศรีธรรมราชเมื่อสามปีก่อน ซึ่งเป็นป่าทึบหนาอุดมสมบูรณ์ เขียวสดชื่น ลำธารน้ำใส ไปกับเส้นทางชันขึ้นลงมีไม้หลากพันธ์รอบตัวเต็มไปด้วยความท้าทายสำหรับการเดินป่าในเมืองไทย ยังอยู่ในความทรงจำ ทำให้เราตั้งใจจะเลือกไปเดินป่าเขาหลวงกันอีกสักครั้ง เพราะมีหลายเส้นทาง แต่แล้วคุยไปคุยมายังไงก็ไม่รู้ว่า มาลงตัวที่เขาล่อน พัทลุง จนได้เบอร์ติดต่อคุณตรี คนนำทาง และนั่นก็ทำให้การเดินทางหนานญี่ปุ่น – เขาล้อน เกิดขึ้นโดยที่เราทุกคนต่างไม่มีข้อมูลใดๆ แต่ก็เชื่อกันว่า ป่าใต้ ก็น่าจะยังเร้าใจไม่ต่างกัน
In This Post
เขาล้อนอยู่ที่ไหน
เขาล้อน เขาล่อน หรือเขาท่าล่อน เป็นยอดเขาที่เป็นเป้าหมายของเราในการเดินทาง เป็นยอดหนึ่งในเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นเทือกเขาครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดคือ สตูล พัทลุง ตรัง และสงขลา เป็นเส้นทางเดินที่กำลังเป็นที่นิยมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นนักเดินเขานิยมเดิน เส้นทางเขาเจ็ดยอด ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีชื่อเสียงของเทือกเขาบรรทัด

เริ่มออกเดินทาง และคนนำทาง
การเดินทางของเราเริ่มต้นในเช้าวันที่ 18 มีนาคม โดยออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ บินจากกรุงเทพด้วยไฟล์ทแรกของวันมาลงที่สนามบินหาดใหญ่ ทางคุณตรี จัดรถตู้มารับ เราแวะทานอาหารเช้า ซื้อของ แล้วไปจัดสัมภาระก่อนออกเดินที่บ้านคุณตรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดเริ่มเดินที่ต.กงหรา หลังจัดสัมภาระข้าวของซึ่งเราจะต้องเตรียมอุปกรณ์ส่วนตัวทั้งหมดด้วยตัวเอง ส่วนเรื่องอาหารการกิน อุปกรณ์ส่วนกลางทั้งหมดเป็นหน้าที่ของทางคุณตรีเป็นคนจัดการ ทริปนี้คุณตรีไม่ได้ออกเดินทางไปกับเราด้วยแต่ส่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเดินป่ากับคุณตรีประจำมาช่วยดูแล โดยทางคนนำทางมีทั้งหมด 3 คน คือพี่สุทิน น้องสาม น้องปอย เจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด 2 คน (เป็นกฎบังคับต้องมีเจ้าหน้าที่ 2 คน ร่วมเดินไปกับเราในการเดินป่า) คือน้องตูม และน้องไผ่

เส้นทางเดินป่าหนานญี่ปุ่น – เขาล้อน
วันที่หนึ่ง สันอีขว้าง – หนานสน – น้ำตกวังกินรี – น้ำตกปอนสวรรค์ – ปากทางค่ายขุด
กว่าจะจัดการเก็บข้าวของสัมภาระเรียบร้อยที่บ้านคุณตรี เราเริ่มออกเดินวันแรกประมาณ 11.30 น.โดยนั่งรถ 4WD ไปเริ่มต้นการเดินประมาณ 30 นาที ด้วยความสะบักสะบอมกับเส้นทางลูกรังผ่านป่ายาง สวนชาวบ้าน และเมื่อเริ่มเดินเส้นทางก็เข้าสู่ทางชันทันที ป่าสองข้างทางเป็นป่าครึ้มหนาทึบด้วยต้นไม้ใหญ่ ตามทางเดินที่แคบจนเกือบจะมองไม่เห็นเส้นทางนั้นมีใบไม้ที่ร่วงลงมาเต็มพื้นที่ พร้อมด้วยรากไม้ที่ทำให้เดินสะดุดง่ายๆ ขณะที่ต้องระวังด้านบนด้วยกิ่งไม้ ต้นไม้ที่หักโค่น ขวางทางเดิน เราต้องก้มบ้าง ปีนข้ามบ้าง เพื่อเดินผ่านสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติ หลังจากเดินชันขึ้นมาตลอดทางเกือบสองชั่วโมงเราก็มาถึงสันเขาด้านบน เพื่อจะตัดเลาะลงสู่ด้านล่างไปยังเส้นทางตามลำธารน้ำ ซึ่งหลังจากนี้จะมีน้ำตกเล็กๆ เป็นระยะ เราต้องเดินเลาะไปตามลำธาร ข้ามลำห้วยไปมาเพื่อหาเส้นทางที่ง่ายที่สุด แม้เส้นทางเลาะลำธารจะไม่ใช่ทางชัน แต่ก็ถือว่าเดินยากและอันตราย เพราะต้องเดินข้ามโขดหินน้อยใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าเปียก ลื่นตกน้ำ และระวังกับความแรงของน้ำตกที่เราลุยข้ามเดินผ่าน ซึ่งในที่สุดก็ไม่มีใครสักคนที่หลบพ้นจากความลื่นของหิน จนต้องลื่นไถลตกน้ำไปในที่สุด วันแรกเราไปไม่ถึงจุดกางเต็นท์หลัก แต่ได้แวะพักกันที่ปากทางค่ายขุด ก่อนถึงน้ำตกหนานญี่ปุ่น


เป็นครั้งที่สองที่ฉันนำเปลไปผูกนอนแทนการกางเต็นท์ โชคดีที่ครั้งนี้น้องปอย หนึ่งในคนนำทาง มาช่วยผูกเปล และแนะนำการผูกเปลว่าควรผูกให้ต่ำ เผื่อถ้าอากาศเย็นจะไม่หนาวมาก ฉันนำเปลมาใช้สำหรับการเดินป่าเมืองไทย โดยเฉพาะป่าใต้ที่ต้นไม้ใหญ่เยอะ ไม่ต้องการพื้นที่มาก ที่สำคัญรู้สึกว่าอยู่สูงสักหน่อยดูปลอดภัยจากทาก และความชื้นแฉะของพื้นป่า เปลอันนี้พกพา รื้อเก็บสะดวก สำหรับการเดินทางที่ต้องย้ายที่พักทุกคืน และเปลนอนสบาย ไม่ปวดเมื่อย

ยิ่งมืดอากาศยิ่งเย็นลง เปลมุ้งที่กาง และถุงนอนช่วยบรรเทาความหนาวเย็น ฉันต้องลุกขึ้นมาใส่เสื้อแขนยาว และเริ่มกังวลว่าคืนพรุ่งนี้น่าจะหนาวลมมากขึ้น เพราะนอนบนยอดเขา อากาศบนเขาในเดือนมีนาคม มีความหนาวเย็นอย่างคาดไม่ถึง แต่ก็คิดว่าเสื้อแขนยาวอีกตัวในกระเป๋าจะช่วยบรรเทาได้บ้าง ขณะที่นอนภาวนาว่าอย่าให้มีฝนตกลงมา เพราะถ้าไม่อย่างนั้นชีวิตต้องลำบากขึ้นอีกหลายเท่าแน่ๆบนเส้นทางป่าที่เดินมาแบบวันนี้
วันที่สอง ปากทางค่ายขุด-หนานญี่ปุ่น-สามแยกไออุ่น-ป่าโปราณ-เขาล้อนลานหินไออุ่น
แต่ละวันเราตื่นแต่เช้าเพื่อจัดการธุระส่วนตัว เก็บข้าวของ เริ่มออกเดินประมาณ 9 โมงเช้า วันที่สองเป็นวันที่จะต้องไปถึงยอดเขาล้อน ซึ่งเส้นทางยังคงเลียบไปตามลำธารเช่นเดียวกับเมื่อวาน ช่วงแรกเดินผ่านเส้นทางพรุ เป็นหนองน้ำแฉะๆ สักพัก แล้วลัดเลาะไปจนถึงน้ำตกหนานญี่ปุ่น เดินต่อไปอีกไม่ไกลจะมาถึงช่วงที่เส้นทางน้ำมาบรรจบกัน เรียกว่าสามแยกไออุ่น มีพื้นที่ริมน้ำกว้างเหมาะกับการกางเต็นท์พักแรมกว่าเมื่อคืน แต่เนื่องจากเราออกเดินกันช้า จึงไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้ตั้งแต่เมื่อวาน


วันนี้อากาศยังคงสดใส อยู่ในป่ามีร่มเงาให้ความร่มรื่น เราแวะทานกลางวันกันที่ริมลำธารเล็กๆ หลังจากนั้นเราทิ้งลำธารไว้ด้านหลังแล้วเริ่มเข้าสู่โหมดปีนป่ายอย่างหนัก เส้นทางรกด้วยเถาวัลย์ รากไม้ และต้นไม้ใหญ่ไปจนถึงป่าโบราณ อันเป็นป่าดิบชื้นที่มีมอส เฟิร์นปกคลุมอยู่ตามต้นไม้รูปร่างแปลกตา น้องตูมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ชี้ให้เราดูรอยเท้าสมเสร็จ และอึสมเสร็จ บางจุดยังมีสภาพใหม่ๆ เป็นความหวังว่าเราอาจมีโอกาสได้เห็นสมเสร็จ ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นของเทือกเขาบรรทัด

จากป่าโบราณ เราก็โผล่ขึ้นมาถึงสันเขาพบกับต้นไม้พุ่มเตี้ยได้เห็นวิวสวยเปิดโล่งของเทือกเขาบรรทัด มองเห็นเมืองพัทลุงซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่ มียอดเขาอกทะลุอยู่เคียงข้างในเมือง ทิวทัศน์ของเมืองจากบนนี้ทำให้จินตนาการไปไกลว่าเมืองพัทลุงมีความคล้ายภาพเมืองริโอ เดอจาเนโร ของบราซิล ที่มีเขาสูงเด่นอยู่ใจกลางเมือง ใกล้ๆกันได้เห็นทะเลสาบบลำปา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลาอยู่ด้านล่าง เจ้าหน้าที่นำเราไปยังจุดกางเต็นท์ซึ่งเป็นพื้นที่เรียบๆ บริเวณเล็กๆ มีต้นไม้ให้ผูกเปล แล้วแนะนำให้เดินขึ้นไปบนยอดเขาล้อนในตอนเย็น รอชมพระอาทิตย์ตก ซึ่งอีกฝั่งจะได้เห็นจ.ตรังซึ่งอยู่อีกฟากของเขานี้
ประมาณ 5 โมงเย็นเมื่อแดดร่มลง เราเดินขึ้นยอดเขาล้อน ซึ่งมองแล้วเหมือนอยู่ไกลจากจุดกางเต็นท์ แต่ที่จริงใช้เวลาเดินไม่นาน วิวบนเขาล้อนฝั่งนี้จะมองเห็นส่วนหนึ่งของจ.ตรัง เทือกเขานี้จึงคล้ายเป็นเส้นแบ่งเขตของสองจังหวัด พี่เก๋ เพื่อนร่วมทริปซึ่งเป็นชาวตรัง เล่าให้ฟังว่าหลายปีก่อนเคยมีเหตุการณ์น้ำป่าไหลแรงลงจากเทือกเขาบรรทัดทำให้มีนักท่องเที่ยว และชาวบ้านที่มาเล่นน้ำตกฝั่งพัทลุงเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งน้ำป่านี้ไหลแรงและทางเทือกเขาฝั่งพัทลุงนี้ก็ไม่มีวี่แววของพายุ ฝนตก ในขณะที่พายุฝนนั้นตกกระหน่ำอยู่ทางฝั่งตรัง แต่เพราะเทือกเขาบรรทัดที่คั่นกลางระหว่างสองจังหวัดบดบังพายุฝนเอาไว้

จนหกโมงกว่าฟ้ายังไม่มืด พระอาทิตย์ยังไม่ตก แต่พวกเราทุกคนก็เริ่มเบื่อที่จะนั่งชมวิวที่เดินไป เดินมาเกือบทั่ว ตั้งใจจะพากันเดินกลับไปที่เต็นท์ แต่พี่สุทินและคนนำทางทุกคนต่างคะยั้นคะยอให้เรานั่งรอชมวิวสวยๆกันก่อน พี่สุทินบ่นว่า “พวกเราไม่เหมือนใครเลย มีแต่คนจะมารอดูวิว เรามาถึงที่นี่ในวันที่ฟ้าเปิด โชคดีกว่าหลายกลุ่ม แต่กลับไม่ยอมรอดู”
พวกเราเลยนั่งรอชมวิวสวยยามเย็น ดูพระอาทิตย์ตกดิน ตามคำแนะนำ แต่ก็เงียบกริบ เมื่อพี่สุทินบอกว่า “พรุ่งนี้จะปลุกแต่เช้า เพื่อให้ไปชมพระอาทิตย์ขึ้น”
รอจนพระอาทิตย์ตกดิน แสงทีส้มลาลับขอบฟ้า ได้เห็นแสงไฟจากหมู่บ้านในฝั่งจังหวัดตรังเปิดสวยงาม เราก็เดินกลับกันทันที เพราะคิดว่าชื่นชมเพียงพอแล้ว ขณะที่พี่สุทิน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังคงนั่งชมวิวสวยกันต่อไป แต่เพียง 4-5 นาที ที่เราเดินลงมา ก็มีเสียงเรียกจากพี่สุทินและน้องตูม น้องไผ่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ให้รีบกลับขึ้นไปอีกครั้ง เสียงตะโกนอย่างตื่นเต้นบอกว่า “มีสมเสร็จออกมา”
พวกเรามองหน้ากัน แล้วตัดสินใจไม่ขึ้นกลับไป บางทีสมเสร็จก็ออกมาง่ายเกินไปจนคิดว่า เดี๋ยวคงได้เห็นอีกมั้ง 555
อากาศบนยอดเขาเย็นกว่าเมื่อคืน แต่จุดผูกเปล กางเต็นท์ของเราซึ่งอยู่ในหุบลงมานิดหน่อย ช่วยบังลมได้อยู่บ้าง ฉันใส่เสื้อกันหนาวทุกตัวที่เตรียมมา ผูกเปล กางฟลายชีทกันลมอย่างดี แต่คืนนี้กลับนอนไม่สบายนัก เพราะผูกเปลให้หัวสูงกว่าเท้ามากไปหน่อย ตัวเลยไหลลู่ลงมากองข้างล่าง ต้องคอยขยับเลื่อนตัวขึ้นลง แต่ก็ขี้เกียจเกินกว่าจะมาผูกเปลใหม่ ได้แต่คิดว่ายังมีพรุ่งนี้อีกคืนที่จะผูกเปลให้ดี ให้เก่งขึ้นให้ได้ ส่วนคืนนี้ปล่อยๆไปแบบนี้ก่อน

วันที่สาม เขาล้อนลานหิน – ป่าโบราณ – ลาเรือ – จุดกางเต็นท์หาดทรายขาว
พี่สุทินมาเรียกแต่เช้าตามที่บอก มีเพื่อนสามคนตื่นไปชมความงามยามเช้า ส่วนฉันเลือกตื่นขึ้นมาจิบกาแฟ ทานข้าวต้มรอเพื่อนๆ การเดินเขาของเราไม่ต้องเร่งรีบ เพราะจัดวันมาเดินแบบสบายๆ 4 วัน 3 คืน ขาลงของเรายังมีเวลาอีก 2 วัน วันนี้เราจะเดินลงเขาแต่ไปแวะพักระหว่างทางแถวหาดทรายขาว ก่อนจะเดินลงกลับสู่พื้นล่างสบายๆในวันถัดไป

ขาขึ้นใช้เวลา 3 ชั่วโมง แต่ขาลงจากยอดเขาล้อนจนมาถึงสามแยกหนานไออุ่นเราใช้เวลาประมาณ1.30 ชม. อากาศวันนี้ร้อนมากขึ้นจนเมื่อได้เห็นสายน้ำใสที่ไหลบรรจบลงเป็นลำธารน้ำตกตรงหน้า ฉันก็เปลี่ยนเสื้อผ้าลงไปเล่นน้ำตกที่เย็นเฉียบ ได้อาบน้ำ สระผมหลังจากไม่ได้อาบน้ำมา 2 วัน น้ำเย็นทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนได้ผ่อนคลายเหมือน icebath หลังวิ่งเสร็จในงานวิ่ง ดีแต่ว่าน้ำใสที่นี่สะอาด สดชื่นมากกว่า ทีมคนนำทางจัดการตั้งเต็นท์ ปูพื้น แล้วต้มมาม่าให้เราทาน เป็นมื้อกลางวันทีนี่ จากนั้นเส้นทางการเดินก็จะแยกไปในเส้นทางใหม่อีกทางเพื่อหลีกเลี่ยงการลัดเลาะโขดหินตามลำธารเช่นขามา เส้นทางต้องเดินขึ้นเขาประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วเดินลงอีก 2 ชั่วโมง จนมาถึงที่พักกลางป่าซึ่งทุกคนบอกว่าบริเวณนี้เรียกว่า “หาดทรายขาว” แต่เราไม่เห็นมีทรายขาวสักนิดในบริเวณนั้น
เรามาถึงหาดทรายขาวประมาณ 4 โมงเย็น ที่่พักวันนี้เป็นอีกบรรยากาศที่ไม่เหมือนกันสักคืน วันนี้อยู่ในป่าทึบ ต้นไม้ใหญ่สูงอยู่รอบตัวเรา จุดนี้เป็นจุด CP9 ของงานวิ่งเทรลเมื่อปีก่อน ซึ่งน้องปอย 1 ในทีมคนนำทางเป็นคนมาคอยดูแลจุด CP นี้ ระหว่างทางพวกเขาชี้ให้ดูเส้นทางวิ่งเทรลระยะ 60 กม. แล้วทำให้ฉันรู้สึกทึ่งในความอึดของนักวิ่งที่ผ่านงานนี้ไปได้ เนื่องจากทางทั้งชัน ต้องปีนป่าย ขนาดที่ว่าเราเดินยังนับว่ายาก ไม่อยากจะคิดว่าถ้าต้องวิ่งทำเวลาจะยากยิ่งขึ้นแค่ไหน น้องปอยบอกว่าตอนนี้พวกเขากำลังทำเส้นทางสำหรับงานวิ่งที่จะจัดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมปีนี้ และบอกว่าปีนี้น่าจะยากกว่าปีที่แล้วขึ้นไปอีก
เมื่อถึงที่พักทุกคนต่างแยกย้ายไปจัดการตั้งเต็นท์ ผูกเปล ฉันเดินเลือกทำเลเพื่อผูกเปล รวบรวมประสบการณ์2 คืนที่ผ่านมา และตั้งใจว่าคืนนี้จะต้องผูกเปลให้นอนให้สบายที่สุด เปลถูกผูกอยู่ริมขอบป่าทึบ ห่างออกมาจากบริเวณเต็นท์กลางเล็กน้อย หันไปมองแล้วนึกถึงเพชรพระอุมาทีเดียว

การผูกเปล จากประสบการณ์สองวันที่ผ่่านมา
- เปลที่ผูกไม่จำเป็นต้องผูกให้อยู่สูงจากพื้นดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ลมผ่านด้านล่างมากเกินไป ซึ่งมีผลทำให้พื้นเปลนั้นเย็นได้
- การผูกเปลต่ำ ทำให้ลุกขึ้นลงสะดวก สามารถเอื้อมหยิบข้าวของซึ่งวางอยู่ใกล้ๆได้ง่าย
- หากเกิดอุบัติเหตุ ผูกเปลไม่แน่นแล้วร่วงลงมา ก็ไม่เจ็บรุนแรง
- การผูกเปล ต้องผูกให้เท้าอยู่สูงกว่าหัวเล็กน้อย ป้องกันการเลื่อนไหลลงมากองที่ด้านล่าง
- หากเป็นไปได้ควรมีช่วงระยะห่างระหว่างเชือกตรงปลายเปลกับต้นไม้ ทำให้เปลตึง ไม่หย่อนห้อยตรงกลาง
ท่ามกลางป่าทึบ เรานั่งคุยสัพเพเหระกันสบายๆ ทำความรู้จักกันมากขึ้นกับคนนำทาง ได้นั่งมองชีวิตง่ายๆรอบกองไฟ อาหารหลายสิบกิโลที่คนนำทาง ลูกหาบช่วยกันขนขึ้นมาอำนวยความสะดวก ถูกปรุงแต่งเพื่อให้ได้รสชาติอร่อย สมัยนี้สะดวกขึ้นด้วยเครื่องปรุงรสสำเร็จรูปที่พกพาง่าย เราจึงได้ทานทั้งอาหารคาว และตบท้ายด้วยอาหารหวานทุกมื้อ กิ่งไม้หักรอบๆ ถูกสุมเป็นกองไฟทั้งเพื่อทำอาหาร ไล่ยุง แมลง พวกเขาสอนให้เรารู้จักต้นไม้ ฟังเสียงแมลงที่กู่ก้องไปทั่วป่า ฉันนั่งมองเปลทหารที่ถูกผูกกับต้นไม้เล็กๆ น่ากลัวหักล้มลงมา แต่ผูกโยงกันไปทั่วเพื่อแบ่งรับน้ำหนัก กับเต็นท์ใหญ่ เขานอนสบายๆอยู่ข้างกองไฟ เพื่อรับความอบอุ่น ก่อนนอนเขาคลุมเปลกันน้ำค้างด้วยผ้าใบขึงตึงอย่างเรียบร้อย ชีวิตของพวกเขาดูเรียบง่าย แต่ไม่ง่ายเลยสำหรับฉัน เมื่อหันไปมองฟลายชีทกันน้ำค้างของตัวเองที่ผูกไว้อย่างลวกๆ และห้อยย้วยอยู่ตรงเปล

วันที่สี่ หาดทรายขาว – กงหรา
เป็นพวกเราที่ขอให้พี่สุทินทำอาหารไม่ต้องมากเกินไป เพราะใช้เวลาเดิน 2-3 ชั่วโมง เราก็จะไปถึงหมู่บ้านแล้ว เช้านี้มีข้าวต้มหมู่เค็มๆ และกาแฟรองท้อง เส้นทางเดินเป็นขาลง เราเดินกันแบบสบายๆ ช้าๆ เดินไปคุยไป แวะพักแต่ละจุดค่อนข้างนาน ขาลงทางนี้ไม่ชันมากแต่มีอาการขาล้าจากการเดินสองสามวันที่ผ่านมา เราต้องระวังต้นไม้ รากไม้ที่ขวางทาง ต้องก้มบ้าง ข้ามบ้าง และต้องเกร็งจิกเท้าเพื่อไม้ให้ลื่นล้มจากใบไม้ที่เต็มพื้นทางเดิน ฉันรู้สึกว่าเป็นการเดินลงที่ง่ายและสบายๆ แต่อากาศที่ร้อนเมื่อเข้าใกล้หมู่บ้านต่างหากที่ทำให้แทบหมดแรง
มีรถกระบะมารอรับพวกเราที่ปลายทาง ก่อนจะพาไปกินข้าวในหมู่บ้านใกล้ๆ แล้วไปส่งเราให้อาบน้ำแต่งตัวที่บ้านคุณตรี จุดเริ่มต้นของเรา เป็นอันจบทริปเดินเขาชมน้ำตกหนานญี่ปุ่น – ขึ้นเขาล้อน อย่างสมบูรณ์แบบด้วยสภาพอากาศที่เป็นใจอย่างที่สุด ทุกคนเหนื่อย แต่ก็ได้ประสบการณ์สนุกๆ และความประทับใจกับป่าใต้อีกครั้ง
คลิปเส้นทางเดินป่าขึ้นยอดเขาล้อนไออุ่น