ธงห้าสีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มักพบตามทางเดิน และยอดเขาสูงในเทือกเขาหิมาลัย มีความหมายและบทบาทสำคัญต่อความเชื่อของชาวทิเบต ต้นกำเนิดนี้มาจากลัทธิบอง (Bon) ซึ่งเป็นความเชื่อเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวทิเบตก่อนที่ศาสนาพุทธจะเข้ามามีอิทธิพล ความเชื่อเก่าและใหม่จึงได้ถูกผสมผสานอยู่ในวิถีชีวิตของชาวทิเบต
ทุกอย่างตั้งแต่สีของธง ความหมายของตัวอักษร การติดประดับต่างมีความหมาย เราอาจมีโอกาสได้รับธงเป็นของฝากจากชาวทิเบต หรือได้พบเจอหากเดินทางไปในดินแดนภูเขาสูงที่มีร่องรอยของชาวทิเบต
ดังนั้นมาทำความรู้จักธงอธิษฐานของชาวทิเบตกันบ้างค่ะ
1. แต่ละสีเป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติที่อยู่รอบตัว
ธงอธิษฐานประกอบด้วย 5 สี ต่อชุด เรียงต่อกันไปตามสีดังนี้ ฟ้า ขาว แดง เขียว และเหลือง
- สีฟ้า คือ ท้องฟ้า
- สีขาว คือ อากาศ
- สีแดง คือ ไฟ
- สีเขียว คือ น้ำ
- สีเหลือง แผ่นดิน
2. รูปและสัญลักษณ์บนธงอธิษฐาน
โดยทั่วไปสัญญลักษณ์ตรงกลางของธงเป็นรูปม้าทรงพลัง (Lung Ta) ที่กำลังทะยานไปพร้อมกับอัญมนีรูปเปลวเพลิง มีความหมายถึงการพุ่งทะยานไปอย่างรวดเร็วและทรงพลัง เพื่อเปลี่ยนแปลงโชคร้ายสู่โชคดี อัญมณีไฟที่ลุกโชนคือรัตนตรัยของศาสนาพุทธอันประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
รอบๆ Lung Ta จะเป็นบทสวด และรูปภาพในทางศาสนาพุทธนิกายมหายาน บทสวดเหล่านี้มาจาก 3 พระโพธิสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ของชาวทิเบตคือ Padmasambhava (Guru Rinpoche), Avalokiteśvara (Chenrezig, พระโพธิสัตว์แห่งความเมตตาและผู้มีพระคุณของชาวทิเบต) และ Manjusri นอกจากนั้นบทสวดนี้ยังให้พรและโชคดีแก่ผู้ที่ผูกธงมนตรานี้อีกด้วย
ทั้งสี่มุมของธงจะมีสัตว์ทรงพลังเรียกว่า Four Dignities คือ มังกร ครุฑ เสือ และสิงห์โตหิมะ
3. ธงอธิษฐานไม่ควรอยู่นิ่ง
อันที่จริงแล้วคำอธิษฐานจากบทสวดมนต์ หรือสัญลักษณ์ต่างๆ บนธงไม่ได้ถูกส่งเพื่ออ้อนวอนนอธิษฐานต่อพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ชาวทิเบตเชื่อว่าคำอธิษฐานและบทสวดนี้เป็นการกระจายความปรารถนาดีและความเมตตาในพื้นที่ ธงที่พัดปลิวไสวจากสายลมจึงจะมีประโยชน์ต่อทุกคน ดังนั้นเราจึงมักจะพบเห็นธงอธิษฐานในที่เปิดโล่งบนหลังคา ตามเส้นทางที่ราบสูง หรือยอดเขาสูงเทือกเขาหิมาลัย

4. ธงอธิษฐานมี 2 แบบ แบบแนวตั้งและแนวนอน
ธงแบบแนวนอน เรียกว่า Lung Dar ส่วนแบบแนวตั้งเรียกว่า Dar Cho
5. ไม่ควรวางธงอธิษฐานไว้ที่พื้น
เนื่องจากเป็นเรื่องความเชื่อดั้งเดิม สัญญลักษณ์และบทสวดมนต์ถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นการไม่สุภาพและไม่ให้ความเคารพหากวางธงไว้ที่ต่ำหรือที่พื้น ส่วนใหญ่นิยามแขวนไว้ตรงประตูเข้าออก และหากเมื่อต้องการทำลายธงอธิษฐานเก่าจึงควรทำด้วยการเผา
6. สีที่ซีดจางของธงถือว่าเป็นมงคล
สีที่ซีดจางแสดงว่าธงได้ค่อยๆนำคำอธิษฐานและคำอวยพรให้ปลิวออกไปสู่ผู้คน การซีดจางเป็นการแสดงถึงวัฏจักรที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป และในที่สุดก็จะถูกแทนที่ด้วยชีวิตใหม่ธงใหม่ การสานต่อความหวังด้วยการติดธงใหม่อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับสิ่งเก่า เป็นสัญญลักษณ์ของการรับรู้การเปลี่ยนแปลงของชีวิตและรับรู้ว่าชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล

7. ธงอธิษฐานเป็นของขวัญที่ล้ำค่า
เป็นเรื่องน่ายินดีถ้าเราได้รับธงอธิษฐานนี้เป็นของขวัญจากเพื่อน หรือคนรู้จัก ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีมากเช่นกันหากได้ซื้อธงอธิษฐานนี้ให้กับผู้ที่เรารัก เหมือนเป็นการให้พร และจะได้นำพรนั้นมาติดเพื่อให้สายลมนำคำอวยพร และความปรารถนาดีไปสู่คนอื่นต่อไป

8. ช่วงเวลาที่แขวนธงอธิษฐานทิเบต
ส่วนใหญ่ชาวทิเบตจะเปลี่ยนธง หรือแขวนธงใหม่ในวันขึ้นปีใหม่ หรือวันดีตามหลักโหราศาสตร์ของชาวทิเบต
นอกจากในทิเบตแล้ว จะพบธงอธิษฐานในเส้นทางที่ชาวทิเบตเคยติดต่อค้าขายมาตั้งแต่อดีต เช่น เลห์ , เนปาล ,อินเดีย ,ภูฏาน ,สิกขิม และตลอดแนวเทือกเขาหิมาลัย
Leave a Reply