มันมีสองสามอย่างในใจ สำหรับการมายังดินแดนที่แห้งแล้งกลางทะเลทรายของฉัน ดี-ไม่ดี ชอบ-ไม่ชอบ ได้-ไม่ได้ แต่ฉันก็ตัดสินใจว่าโอเค มาดีกว่าทุกครั้งไป
In This Post
– นอนกลางทะเลทราย (อีกครั้ง)
สำหรับหนึ่งคืนในทะเลทรายคงไม่อาจตัดสินชีวิตชาวทะเลทรายได้เลย แต่ฉันก็นับถือความอดทนกับคืนวันที่แสนเงียบเหงา ค่ำคืนที่มืดสนิท กลางวันที่แสนจะร้อนแรง ที่ชาวทะเลทรายต้องใช้ชีวิตผ่านไปในแต่ละวัน ย้อนหลังไปเป็นพันๆปี ศิลปะ อารยธรรมต่างๆได้กำเนิดบนดินแดนเช่นนี้ได้ ทั้งความยิ่งใหญ่ ในแง่ความใหญ่โตโอฬาร ความศรัทธาที่มีต่อเทพเจ้าของพวกเค้า และศรัทธาต่อการดำเนินชีวิตผ่านอุปสรรคของธรรมชาติ
เต้นท์ที่พักของเราจัดไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะได้สัมผัสคืนหนึ่งในทะเลทราย จัดห้องไว้เป็นสัดส่วน ที่นี่ยิ่งดีนัก มีกระทั่งห้องน้ำไว้ให้ใช้ ต่างกับบางที่เช่นที่อียิปต์ หรือโมร็อคโค ที่ฉันเคยไป ทั้งสองที่ต้องวิ่งไปหาที่ลับตากันเอาเอง แต่กลางทะเลทรายตรงไหนจะลับตาเท่าข้างเต้นท์เรานี่แหละ เหอ เหอ ห้องน้ำเค้าก็ทำความสะอาดพอใช้ได้เลย จัดห้องสำหรับทานอาหาร มีเตาผิงไฟกันหนาวเป็นสัดส่วน เท่่าที่ลองนึกย้อนหลังดู ที่นี่ถือว่าดีที่สุดสำหรับฉันในการมาค้างกลางทะเลทราย
แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังไม่สะดวกสำหรับคนที่ชีวิตมีแต่ความสบาย พร้อมไปทั้งน้ำอุ่น เตียงนุ่มๆ โต๊ะเครื่องแป้งไว้ดูแลหน้าตาตัวเองก่อนจะไปพบปะใครต่อใคร ไม่งั้นคงได้ตกใจกับหน้าตาปราศจากเครื่องสำอางของฉันเป็นแน่ ทั้งหมดแค่นี้ทำให้ฉันต้องเดินโสร่เสร่ออกมาจากเต้นท์ที่พัก เหมือนกันนอนไม่เต็มที่ (ซึ่งก็นอนไม่เต็มตาจริงๆแหละ) เพราะเฝ้ารอทุกครั้งว่าเมื่อไหร่จะเช้าซะที อากาศดึกๆยิ่งเย็นจับใจ ทำให้ฉันนอนรอเช้าวันใหม่อย่างใจจดจ่อ เพื่อไปเดินรับแสงแรกของวันยามเช้า และรอเวลาเพื่อเดินทางออกจากทะเลทรายแห่งนี้
และก็เป็นอีกหนึ่งในหลายครั้งที่ผ่านประสบการณ์นี้ ที่ฉันมักจะยืนยันกับตัวเองว่า
“คราวหน้า ไม่นอนแล้วกลางทะเลทราย ไม่เห็นจำเป็นเลย มาแล้วกลับออกไปเลยดีกว่า พอกันที”
.
.
แต่ทุกครั้งที่มาเที่ยวทีไร ก็จบที่เต้นท์กลางทะเลทรายมาหลายรอบแล้ว ^^
อาจเป็นเพราะ
ค่ำคืนที่เงียบสนิท
แสงจันทร์กลมโตสะท้อนกับเม็ดทราย
ดวงดาวพร่างพรายยามดึกสงัด (ได้เห็นตอนออกมาเข้าห้องน้ำ 555)
แสงอาทิตย์แรกยามเช้าที่เราเฝ้ารออย่างใจจดจ่อกว่าที่ไหนๆ
มันช่างหวาน งดงาม อ่อนโยน ต่อผู้ที่เฝ้ารอในยามเช้า
…และการได้มองเห็นวิถีชีวิตของชาวเบดูอิน ที่คอยดูแลต้อนรับขับสู้เรา
ฉันมักจะตระหนักและสะท้อนใจเสมอกับวิถีที่เรียบง่ายเช่นนั้น
ครัวเล็กๆ การทำอาหารง่ายๆ ไม่กี่อย่าง แต่สามารถดูแลพวกเราหลายคนให้อิ่ม อร่อยและมีความสุขกับความเรียบง่ายเช่นนั้น
(แต่ฉันก็ยังไม่วาย ต้องมีบะหมี่ติดตัวไปซักกระป๋องอยู่ดี)
ในขณะที่ครัวใหญ่โตของฉัน กลับไม่สามารถทำอาหารอร่อยๆอย่างนี้ได้เลย


ความสุขปนเบื่อๆในทะเลทรายฉันจบลงเมื่อรถเข้ามารับพวกเราไปส่งในหมู่บ้านข้างหน้า เราเปลี่ยนรถและเดินทางต่อไปยัง Shobak Castle ที่นี่คุณลุงคนขับท่าทางใจดีพาเราแวะเที่ยวบ้านชาวเบดูอิน ใกล้ๆแถวนั้น
+ แวะเที่ยวบ้านชาวเบดูอิน (ยุคกลางเก่ากลางใหม่)
เมื่อเมืองความเจริญคืบคลานเข้ามา ชาวเบดูอินก็เปลี่ยนไปบ้าง แม้จะมีบางส่วนที่ยังคงใช้วิถีชีวิตเดิมๆ เลี้ยงสัตว์ เดินทางเร่ร่อน ใช้ชีวิตอยู่ในเต้นท์ ขนาดใกล้ๆเมืองใหญ่มาดาบา หรือเมืองหลวงอัมมาน ก็ยังเห็นกลุ่มพวกนี้ไม่น้อย ที่ใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมและบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป
สำหรับบ้านคุณลุงยังเป็นลักษณะที่ขุดเจาะเข้าไปในภูเขา เหมือนอยู่ในถ้ำ ครอบครัวคนอื่นยังคงเลี้ยงสัตว์หรือไม่ เราก็ไม่รู้ได้ เพราะถามอะไร แกก็ได้แต่ตอบว่า “เบดูอิน” ทุกคำถามของเรา เพื่อตอกย้ำให้ฉันและเพื่อนๆรู้ว่าแกคือชาวเบดูอินนะ ภายในบ้านถ้ำจัดของเรียงรายไว้ คงไว้ขายนักท่องเที่ยวที่อาจจะแวะผ่านทางมา ดูแล้วคงขายไม่ได้เท่าไหร่หรอกค่ะ เข้าบ้านเค้า ก็ต้องเลี้ยงชาเป็นธรรมเนียม ที่จริงเค้าไม่ได้เลี้ยงหรอกค่ะ น้ำชา ส่วนใหญ่ที่เจอก็คือวางไว้ เรียกเรา เชิญชวนเรายังกับให้กินฟรี แต่เก็บเงินทุกที่แหละค่ะ ค่าน้ำชาถ้วยเล็กๆ แต่ละถ้วย ก็ไม่น้อยตั้งแต่ 1-2 JD(45-90 บาท)เจอครั้งแรก แทบจะพ่นออกมาคืน ด้วยว่า แพงอิบอ๋าย กลับมาบ้านคุณลุงกันดีกว่า
เดินไปรอบๆ ถึงได้เห็นว่าคุณลุงคงดังไม่น้อย ในหมู่บ้านนี้ มีรูปถ่ายกับ King Abdulla กษัตริย์หนุ่มคนปัจจุบันของจอร์แดนซะด้วย เราเลยต้องขอถ่ายรูปกับคนดัง กรี๊ดกร๊าดแทบขอลายเซ็นต์กัน เที่ยวเล่นหยิบโน่นนี่ นั่งคุยกันพักใหญ่ทั้งที่ไม่รู้เรื่อง เพราะแกเอาแต่ตอบทุกคำถามว่า “เบดูอิน” พวกเราเลยต้องตอบบ้างว่า “ไทยแลนด์” ทำเอาแกขำกิ๊กไปเลย พอได้เวลาร่ำลากลับ จะจ่ายเงินค่าชาที่พวกเราซัดกันไปหลายจอก แกกลับไม่คิดเงินซักกะบาท เอ๊ย ดีนาร์ ท่าทางคงถูกใจมีคนต่างถิ่นมานั่งคุยด้วยมั้ง





Leave a Reply