สำหรับนักเดินทางที่ท่องเที่ยวไปยังดินแดนห่างไกลเพื่อสัมผัสวิถีชีวิตของชาวลาดักค์
ดินแดนที่แตกต่างในผืนแผ่นดินของชาวภารตะแห่งอินเดีย
ผู้คนส่วนใหญ่ที่นี่มีชีวิตผูกพันอยู่กับศาสนาพุทธนิกายหนึ่งซึ่งแพร่หลายในทิเบต
มีความเป็นอยู่เรียบง่าย
งานเทศกาลซึ่งมีการจัดอยู่แทบทุกวัดเพื่อแสดงความนอบน้อม เคารพบูชา
และพิธีกรรมเพื่อแสดงความศรัทธาต่อศาสนา
เป็นสิ่งหนึ่งที่จะเห็นเป็นรูปร่างและสัมผัสต่อจิตวิญญาณของคนท้องถิ่นได้อย่างดี
ด้วยช่วงเวลาแห่งการเดินทางที่จำกัด ของการท่องเที่ยว
งานเทศกาลระบำหน้ากากที่วัดเฮมิสจึงเป็นงานที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว
เนื่องจากเป็นวัดเดียวที่มีวันเวลาจัดงานใหญ่นี้ในช่วงฤดูร้อน
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนดินแดนแห่งนี้มากที่สุด
ส่วนที่เหลือมักจะจัดในช่วงฤดูหนาวซึ่งนักท่องเที่ยวจะน้อยมาก
วัดเฮมิสแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นวัดที่ร่ำรวยที่สุดในลาดักค์
เนื่องจากรายได้จากนักท่องเที่ยวที่มาเข้าชมงานนั่นเอง
ค่าเข้าคนละ 100 รูปีค่ะ และยังมีที่พิเศษสำหรับนั่งชมอย่างใกล้ชิด
โดยไม่เบียดใครอยู่ตรงชั้นสอง ได้ยินว่าเพิ่มอีก 250 รูปี
แต่น่าจะต้องจองมาล่วงหน้า เท่าที่เห็นส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่นั่งอยู่บนนั้น
ส่วนที่เหลือทั้งหมดก็หาที่เอาเองตามบริเวณรอบๆ จนถึงบนดาดฟ้าของวัด
รวมๆ กับชาวลาดักค์ที่เข้ามารับบุญกุศลจากงานประเพณีระบำหน้ากากนี้
และจากเหตุผลเหล่านี้กระมัง ฉันจึงได้เห็นความวุ่นวาย ความศรัทธาอยู่เคียงข้างกันอย่างใกล้ชิด
งานเทศกาลระบำหน้ากากปีนี้จัดในวันที่ 2-3 กรกฎาคม
ตามปกติจะเริ่มประมาณ 9.30 น. แต่เวลาก็ไม่แน่นอนเป๊ะๆ นัก
อย่างเช่นวันนี้ด้วยสภาพอากาศ การจัดการ ความวุ่นวายของผู้ที่เข้ามา
ทำให้การเต้นรำกว่าจะเริ่มได้ก็ปาเข้าไปประมาณ 10 โมงเช้า
วันนี้ฉันก็ได้เจออากาศแทบทุกแบบตั้งแต่เช้าเมื่อมารอชมงานเทศกาล
มาถึงตั้งแต่ 8 โมงกว่าๆ มีคนมารอชมกันบ้างแต่ไม่มาก
อากาศวันนั้นครึ้มฟ้า ครึ้มฝน ตามด้วยลูกเห็บลูกเล็กๆ
จากนั้นมีละอองหิมะตามลงมาประปราย
ฉันแยกย้ายกับเพื่อนเพื่อหาที่นั่งเพื่อรอชมงาน
และได้เห็นนักท่องเที่ยว มารยาทของช่างภาพบางคน
แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวเพื่อให้ได้ที่และมุมที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง
โดยไม่สนใจกฎระเบียบ
ในขณะที่ตรงที่ฉันนั่งอยู่ส่วนใหญ่เป็นชาวลาดักค์ที่ทะยอยเข้ามา
หวังจะได้รับบุญกุศลกลับไป กลับแทบจะไม่มีที่นั่ง แต่ยังคงใจเย็น
หากหาที่นั่งได้ก็นั่งลงท่ามกลางหมู่คน และพนมมือ สวดมนต์ หมุนลูกประคำตามวิถีแห่งการเคารพบูชา
มุมที่ดีที่สุดอยู่ตรงไหนฉันบอกไม่ได้ บางคนปีนขึ้นไปบนหลังคา
บางคนเบียดเสียดเพื่อให้เข้าใกล้พิธีที่สุด
และฉันแทบจะไม่ได้เห็นการแสดงอย่างที่คิดว่าจะได้ดู
แต่ฉันดีใจที่ได้ยืนอยู่ท่ามกลางความศรัทธา ของคนลาดักค์
ซึ่งไม่เพียงมีแค่คนแก่ แต่ยังมีคนหนุ่มสาววัยรุ่นซึ่งดูแล้วมาด้วยใจที่ศรัทธาต่อพิธีการเหล่านี้
ทำให้แน่ใจได้ว่าพิธีการ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลาดัค์จะยังคงได้รับการสืบทอดต่อไป
หลังจากยืนเบียดเพื่อพยายามชะเง้อดูพิธีเต้นรำซักพัก
ฉันเริ่มทนไม่ไหวที่ต้องมาแย่งที่ชาวบ้านที่พยายามจะเข้าไปให้ใกล้ที่สุด
จนต้องถอยหนีออกมาเพราะฉันคิดว่าที่ตรงนั้นน่าจะมีประโยชน์กับพวกเค้ามากกว่าฉัน
ฉันตัดสินใจเดินดูไปรอบๆเรื่อยๆ
เจอกับบางเหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวบางคนแทบจะหันมาต่อยคนที่เบียดเค้า
ชาวบ้านที่ยืนอยู่ใกล้หันมางงกันเลิ่กลั่ก
ฉันสงสัยจริงๆ ว่าถ้าไม่อยากโดนเบียดแล้วจะมาทำไม
พอเดินขึ้นไปบนหลังคา นอกจากคนที่ยืนล้อมดูจนแทบจะไม่มีที่ยืนดูอยู่แล้ว
ยังมีรอเบียดเสียดจะขึ้นไปอีกเยอะแยะทั้งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นเอง
สุดท้ายฉันก็เลยตัดสินใจเลิกดู แล้วไปนั่งรออยู่ด้านในจนเสร็จพิธีการ
ตรงบริเวณที่มีพระออกมาระบำหน้ากาก
เห็นแล้วก็แปลกๆ สำหรับคนไทยพุทธอย่างฉัน
อย่างการทักทายใกล้ชิดระหว่างพระ กับฆราวาสสาว มีการจับไม้จับมือ
หรือโบกมือให้กันอย่างใกล้ชิด
แถมระหว่างรอยังมีนักข่าวจะมาสัมภาษณ์ซะอีก
แต่ไม่รู้จะพูดอะไร ก็เลยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ไป
ที่สำคัญภาษาอังกฤษอ่อนแอเกินกว่าจะออกอากาศทาง CNN อินเดีย
วันนี้มีนักข่าวมาทำข่าวพิธีนี้อยู่หลายช่อง
แถมหน้าตาดี๊ดี ลองดูซิคะหล่อมากเลย
แต่คนนี้ไม่ใช่คนที่มาสัมภาษณ์ฉันหรอกค่ะ เป็นสาวสวยอีกคนนึง
หลังพิธีจบ เหตุการณ์ก็ยังคงโกลาหลกันต่อไป
เพราะทางเข้าออกเป็นประตูเดียวกัน
เลยต้องเบียดกันชนิดแทบจะเหยียบกันตาย
Leave a Reply