In This Post
ทำไมตลาดหยกน่าไปชม
คุณไม่จำเป็นต้องอยากได้ หรือชอบหยกก็ได้ แต่การไปตลาดหยกก็เพื่อดูความคึกคัก และตลาดซื้อขายของคนท้องถิ่นนั้นน่าสนใจกว่าที่คาดมาก เพราะตอนแรกฉันก็เบ้ปากนิดๆเมื่อโกเท คนขับรถสามล้อที่นัดมารับฉันบอกว่าจะพาไปตลาดหยก เพราะคิดว่าตั้งใจจะพาไปซื้อของ เอานายหน้าละมั้ง แต่ปรากฎว่าเมื่อไปถึงตลาดขนาดใหญ่ที่มีหลังคาคลุมในตอนสายๆ กลับสร้างความตื่นใจด้วยบรรยากาศชาวพม่าที่แออัดยัดเยียดในตลาดใหญ่ คล้ายตลาดสด ผิดแต่ของที่วางอยู่บนพื้นค้าขายกลายเป็นก้อนหิน ก้อนหยกหลากหลายแบบ หลายคนถือไฟฉายส่องดูเนื้อหยกชิ้นต่างที่วางระเกะระกะเหมือนก้อนหิน สายตาที่ส่องมองดูก้อนหินต่างมีความหวังว่าจะได้ก้อนหยกเนื้องาม เพื่อทำราคาได้เมื่อขายออกต่อไป เสียงดังต่อรองระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย สายตาที่จับจ้องมองก้อนหินเพื่อหวังจะได้ราคาสูง เป็นเสียงและภาพสะท้อนของอีกยุคหนึ่ง ท่ามกลางฝุ่นควัน และน้ำที่นองไหลเป็นทางในตลาดเพราะบรรดาพ่อค้าแม่ค้าต้องคอยรดหยกให้ส่องประกายกับแสงแดดเป็นระยะ

ตลาดหยกมัณฑะเลย์อยู่ที่ไหน
ตลาดค้าหยกขนาดใหญ่ ชื่อว่า Maha Aung Myay Kyuak Myat เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหยกที่สำคัญแห่งเดียวในเมืองนี้ และเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของพม่าตอนเหนือ หยกส่วนใหญ่มาจากทางตอนเหนือใกล้เทือกเขาหิมะ ในรัฐคะฉิ่น ใกล้ชายแดนอินเดีย-จีน เหมืองหยกสำคัญคือ เหมืองพะกันต์ (Phakant) ที่เป็นแหล่งผลิตหยกคุณภาพดีและมีปริมาณการผลิตมากที่สุดในโลก หยกถือว่าเป็นหนึ่งในสินแร่สำคัญของพม่ามาช้านาน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อังกฤษอยากได้พม่าเป็นเมืองในปกครอง
จะเลือกชิ้นไหน ที่คุณภาพดี ส่องหยกดูสีสัน และคุณภาพของหยก
เวลาทำการตลาดหยก และค่าเข้าชม
ที่ตลาดมีพ่อค้ามาค้าขายและรับซื้อหยกกันอย่างคับคั่งหนาแน่น ต้องเดินเบียดเสียดเข้าไปเที่ยวชมในตลาด และคอยระมัดระวังตัวขณะเดินทีเดียว พ่อค้าต่างชาติที่เข้ามาค้าขายส่วนใหญ่เป็นชาวจีน จึงได้ยินเสียงต่อรองทั้งภาษาพม่าและจีนดังไปทั้งตลาด ตลาดเปิดทุกวันแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาเช้าและบ่าย คือ 4.00-10.00 น. และเวลา 14.00-16.00 น. ตลาดหยกแห่งแบ่งพื้นที่เป็น 2 โซน
- โซนภายนอกเป็นพื้นที่ให้เช่า จำหน่ายหยกก้อนดิบหลากขนาด มีผู้ค้าอยู่กว่า 100 ราย
- โซนภายในเป็นโต๊ะรับซื้อขายหยกก้อนและหยกเจียระไน กว่า 300 โต๊ะ ผู้ซื้อหลักคือ พ่อค้าชาวจีน พ่อค้าชาวพม่า อาจมีนายหน้าท้องถิ่นนำหยกมาเสนอขายให้กับผู้ซื้อด้วย ราคาซื้อขายขึ้นอยู่กับคุณภาพหยกและการเจรจาต่อรอง จะเข้าไปในโซนนี้มีค่าเข้า 2500 Kyat หยกในโซนภายในจะมีคุณภาพดีกว่าด้านนอก
ภายในบริเวณตลาดยังมีช่างท้องถิ่นชาวพม่ามารับจ้างเจียระไนหยก โดยใช้เครื่องมือเจียระไนแบบดั้งเดิมซึ่งใช้เท้าถีบอยู่

แหล่งอัญมณีสำคัญของพม่า
เมืองพะกันต์ (Phakant)
เมืองพะกันต์ (Phakant) ห่างจากมัณฑะเลย์ไป 350 กม.ทางเหนือในรัฐคะฉิ่น เป็นแหล่งผลิตหยก jadeite คุณภาพดี และมีปริมาณการผลิตมากที่สุดในโลก (ขณะที่หยกในจีนจะเป็นประเภท nephrite ซึ่งหาง่ายและราคาถูกกว่า) อ่านเรื่องความแตกต่างของหยกทั้งสองแบบ
ถึงอย่างไรเมืองนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังยากจน เพราะเหมืองอยู่ในมือของเศรษฐี และบรรดาผู้มีอำนาจในรัฐบาล แต่ละปีมีข่าวเหมืองถล่ม น้ำท่วมทำให้ชาวบ้านที่ทำงานในเหมืองเสียชีวิตไปมากมาย https://en.wikipedia.org/wiki/Hpakant_jade_mine_disaster
เมืองโมกก (Mogok)
เมืองโมกก (Mogok) ดินแดนแห่งทับทิม (Ruby Land) เมืองเก่าแก่ทางภาคเหนือของพม่า ตั้งอยู่ในหุบเขาทางตะวันตกของแม่น้ำอิระวดี อัญมณีที่มีชื่อเสียงจากเหมืองโมกก ได้แก่ ทับทิมสีแดงเลือดนกพิราบ (pigeon’s blood) ไพลิน แซปไฟร์ และอัญมณีอื่นๆ ในสมัยโบราณทับทิมพม่าถูกขนส่งไปตามเส้นทางสายไหม เอกสารในสมัยราชวงศ์ชางได้ระบุถึงการทำเหมืองในพม่าไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 และมีหลักฐานการบันทึกถึงทับทิมจากโมกกไว้เป็นครั้งแรกในปี 1597
ตระเวณชมร้านฝีมืออื่นๆในมัณฑะเลย์
นอกจากตลาดหยก โกเท ยังพาตระเวณชมร้านต่างๆ อีกหลายร้าน ดูวิธีการทำ และเป็นร้านขายของที่ระลึก ซึ่งฉันไม่ได้ซื้ออะไรเลย ได้แต่เดินวนเข้าไปชม ถึงแม้จะดูน่าเบื่อไปหน่อย แต่ก็เห็นว่าพอมีเวลาเลยปล่อยให้เขาพาไปโดยไม่ได้ว่ากล่าวอะไร ซึ่งก็น่าสนใจเปิดหูเปิดตาดีเหมือนกัน





https://www.thairath.co.th/news/foreign/1792166
https://www.xinhuathai.com/inter/119535_20200703
เหมืองหยกถล่มในพม่า มีคนเสียชีวิตกว่า 120 คน